จะเรียกร้องเงินชดเชยจากนายจ้างได้อย่างไร?

ท่านที่เป็นลูกจ้างแบบสัญญาจ้าง เมื่อถึงกำหนดระยะเวลาตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง นายจ้างของท่านได้ส่งหนังสือเลิกจ้าง เพื่อแสดงความประสงค์ว่านายจ้างไม่ต้องการต่อสัญญาจ้างกับท่านอีกต่อไป  บางท่านอาจคิดว่า เมื่อหมดสัญญาจ้างก็คือหมดสัญญาตามที่ได้ระบุไว้ ลูกจ้างก็ต้องหางานใหม่ตามที่ได้ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรกเมื่อทำสัญญา โดยที่ไม่ได้คาดว่าท่านมีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 118 ด้วย เพราะตั้งแต่วันที่เซ็นต์สัญญาจนกระทั่งถึงวันที่นายจ้างเลิกจ้างก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องเงินชดเชยแต่อย่างใด เพียงส่งหนังสือแจ้งให้ทราบว่าไม่ต้องมาทำงานอีกต่อไปหลังจากหมดสัญญาแล้วเท่านั้น หากท่านทราบถึงข้อนี้ และได้ทวงถามเงินค่าชดเชยจากบริษัท ก็จะได้รับคำตอบที่ว่าสัญญาจ้างที่ได้ตกลงทำกันตั้งแต่แรกเริ่มนั้น เป็นสัญญาจ้างทำงานโดยมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้าง ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น โดนตอบกลับมาแบบนี้แล้วจะทำอย่างไรเพื่อจะทวงเงินค่าชดเชยจากนายจ้างได้?

สำหรับตัวผู้เขียนเองได้ขอคำปรึกษาจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่เบอร์สายด่วน 1506 ทางเจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้างลง และนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยเป็นอันแน่นอนแล้ว ให้ยื่นคำร้องผ่านระบบ e-service ซึ่งได้วางลิ้งค์ไว้ให้ตามนี้ http://s90.labour.go.th/e_request/login.php หลังจากลงทะเบียนและกรอกข้อมูลเรียบร้อย จะมีพนักงานตรวจแรงงานติดต่อกลับมาเพื่อนัดหมายการให้ถ้อยคำ จัดทำบันทึกคำให้การ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะติดต่อฝ่ายนายจ้างเพื่อสอบข้อเท็จจริง รวบรวมข้อเท็จจริงนำสู่การวินิจฉัยว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยหรือไม่ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยจริงพนักงานจะเจรจาให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง แต่หากนายจ้างไม่ยินยอมจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง พนักงานตรวจแรงงานจะมีคำสั่งให้นายจ้างนำเงินมาวางภายใน 15 วันนับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง และนายจ้างยังต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ผิดนัดอีกด้วย รวมระยะเวลาดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงานทั้งสิ้นไม่เกิน 60 วัน

 

ทั้งนี้หากนายจ้างไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน นายจ้างสามารถฟ้องเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานต่อศาลแรงงานกลางได้ แต่นายจ้างจะต้องวางเงินต่อศาลเท่าจำนวนเงินที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งจึงจะสามารถฟ้องคดีได้ และจะต้องดำเนินการภายใน 30 วันนับแต่วันทราบคำสั่ง และเมื่อคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานถึงที่สุดแต่นายจ้างยังคงไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาทตามพรบ.คุ้มครองแรงงานมาตรา 146 อีกด้วย

 

ผู้เขียนได้มองในมุมของลูกจ้างเห็นว่า หากนายจ้างยินยอมจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างแบบสัญญาจ้างแต่แรกแล้ว ก็จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จะตามมา เช่น ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี เงินวางประกันต่อศาลเท่าจำนวนเงินที่ต้องจ่ายให้ลูกจ้าง และค่าปรับอีก 20,000 บาท รวมทั้งไม่ต้องเสียเวลารวบรวมเอกสารเพื่อฟ้องร้องต่อศาลอีกด้วย แต่ผู้เขียนก็ไม่สามารถเข้าใจมุมมองของนายจ้างได้ อาจจะมีนายจ้างประเภทที่ยอมหักไม่ยอมงอ เสียเงินไม่ว่าแต่เสียหน้าไม่ได้ ไม่อยากรู้สึกเสียหน้าให้แก่พนักงานตัวเล็ก ๆ ก็มี หรือด้วยเหตุผลอื่น ๆ ซึ่งผู้เขียนก็มิอาจจะทราบได้ ก็มี

 

ทั้งนี้ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อพนักงานสัญญาจ้างที่อาจจะยังไม่ทราบว่าท่านมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 118 กับเค้าด้วย ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เงินจำนวนนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับท่านเป็นอย่างยิ่ง

 

เครดิตรูปภาพจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ชอบบทความนี้หรือไม่? รับทราบข้อมูลโดย เข้าร่วมรับจดหมายข่าว!

ความเห็น

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนเพื่อแสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับผู้เขียน
บทความล่าสุด
เม.ย. 28, 2023, 2:40 หลังเที่ยง Sugarmommy
เม.ย. 28, 2023, 2:37 หลังเที่ยง เบญจพิธพร
เม.ย. 27, 2023, 12:49 หลังเที่ยง ศลิล ตันวิสุทธิ์