หายนะภัย 3/11 วันวิปโยคของญี่ปุ่น (ตอนที่ 1)

แผ่นดินไหวใหญ่และสึนามิในภูมิภาคโทโฮคุของประเทศญี่ปุ่นปี 2011 

ช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2011 มันเป็นวันสุดท้ายของสัปดาห์ ทุกคนตั้งตารอการพักผ่อนอย่างสบายกายสบายใจในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ แม้ว่าพวกเขาจะต้องทำงานต่อไปจนดึกดื่นก็ตาม การทำงานหนักในญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องปกติ จนมีหลายกรณีที่ส่งผลให้มนุษย์เงินเดือนต้องจบชีวิตลงคาโต๊ะทำงานเนื่องจากความเหนื่อยล้าหรือความเครียด แต่หายนะภัยที่ไม่อาจล่วงรู้ได้กำลังใกล้ปะทุ บางทีพวกเขาอาจไม่มีทางได้พักผ่อนนอนหลับอย่างสบายใจในวันหยุดที่กำลังจะมาถึง

 

14 นาฬิกา 46 นาที 

สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นทุกแห่งในญี่ปุ่นตัดสัญญาณเข้าสู่ช่วงเร่งด่วน

"คิงคิว จินชิน โซคุโฮเดส..." 

(นี่คือการเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้า...)

สิ้นเสียงประกาศของผู้สื่อข่าว กรุงโตเกียวถูกเขย่าอย่างรุนแรงจากหายนะภัยที่ไม่มีใครคาดคิด ประชากรกว่า 30 ล้านคนในภาคตะวันออกต้องตกอยู่ในอันตราย อาคารสูงหลายแห่งเริ่มเคลื่อนไหว โยกไป-มา สิ่งของหล่นจากชั้นวางกระจัดกระจาย การเขย่าเริ่มรุนแรงขึ้น การยืนนิ่งๆบนพื้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ พื้นดินบางแห่งฉีกขาดเสียหาย เกิดเป็นรอยแยกขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกัน การเขย่านี้เกิดขึ้นเป็นเวลากว่า 6 นาที แต่มันเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานสำหรับผู้ที่กำลังเผชิญกับมัน ราวกับว่าเมืองทั้งเมืองกำลังจะพังทลาย

เครื่องตรวจจับแรงสั่นสะเทือนบริเวณชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น ตรวจพบคลื่นสั่นสะเทือนปฐมภูมิ (P wave) เดินทางมาจากนอกชายฝั่งจังหวัดมิยางิห่างออกไปราว 72 กม. ก่อนจะตามมาด้วยคลื่นทุติยภูมิ (S wave) ซึ่งตรวจวัดระความรุนแรงได้ถึงระดับ 7 สูงที่สุดในมาตราชินโด ซึ่งเป็นมาตรวัดแผ่นดินไหวของญี่ปุ่น วัดระดับความรุนแรงได้ถึง 9.0 ตามมาตราแมกนิจูด จุดศูนย์กลางอยู่ลึกลงไปใต้พื้นทะเล 32 กม. แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ไกลถึงเกาะฮกไกโดห่างจากจุดศูนย์กลางขึ้นไปทางเหนือราว 400 กม. รวมถึง 23 แขวงพิเศษของกรุงโตเกียวก็สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ถึงระดับ 5+ ตามมาตราชินโด

ญี่ปุ่นกำลังเผชิญแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ หลังจากแผ่นดินไหวใหญ๋ฮันชินหรือแผ่นดินไหวเมืองโกเบในปี 1995 ซึ่งทำลายพื้นที่ใกล้เคียงเมืองโอซากะ เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ ความเสียหายในครั้งนั้นคาดการณ์ได้ราว 1.02 แสนล้านดอลลาร์ (2 ใน 3 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทยในเวลานั้น 1.63 แสนล้านดอลลาร์) แต่สำหรับแผ่นดินไหวครั้งนี้ ความเสียหายมันสูงกว่ามาก

 

เมืองเล็กๆริมชายฝั่งตะวันออกในจังหวัดมิยางิและจังหวัดอิวาเตะหลายแห่งเป็นเมืองแรกๆที่เผชิญคลื่นไหวสะเทือนที่รุนแรง

- อิชิโนะมากิ

- มินามิซันริกุ

- เคะเซนนุมะ

- ริคุเซนทาคาตะ

- โอฟุนาโตะ

- คามาอิชิ

ปัจจุบันเมืองเหล่านี้กลายเป็นพื้นที่ราบว่างเปล่าบางส่วนเนื่องจากผลกระทบที่รุนแรงจากหายนะภัยหลังแผ่นดินไหว ขณะที่เมืองใหญ่แห่งแรกที่เผชิญคลื่นไหวสะเทือนคือเมือง "เซ็นได" จังหวัดมิยางิ เมืองที่มีประชากรราว 1.1 ล้านคน

แผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งผลให้เกาะฮนชูของญี่ปุ่นเลื่อนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 2.4 เมตร เข้าใกล้ทวีปอเมริกาเหนือขึ้นเล็กน้อย แนวชายฝั่งยาวกว่า 400 กม. ทรุดตัวลงราว 0.66 เมตร เคลื่อนย้ายตำแหน่งของแกนโลกไป โดยประเมินไว้ระหว่าง 10 ถึง 25 ซม. การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกเล็กน้อยหลายอย่าง รวมทั้งความยาวของวันและความเอียงของโลก อัตราเร็วในการหมุนรอบตัวเองของโลกเพิ่มขึ้น ทำให้วันหนึ่งสั้นลง 1.8 ไมโครวินาที อาฟเตอร์ช็อกมากกว่า 1,200 ครั้งเกิดขึ้นนับแต่เกิดแผ่นดินไหวขึ้น โดยมี 60 ครั้ง ที่มีความรุนแรงมากกว่า 6.0 แมกนิจูด และมีอย่างน้อย 3 ครั้ง ที่มีความรุนแรงมากกว่า 7.0 แมกนิจูด อาฟเตอร์ช็อกความรุนแรง 7.7 และ 7.9 แมกนิจูด เกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม และครั้งที่สามเกิดขึ้นนอกชายฝั่งเมื่อวันที่ 7 เมษายน นอกชายฝั่งเซ็นได ความรุนแรง 7.4 แมกนิจูด

 

อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวในวันที่ 11 มีนาคม 2011 ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีอย่างฉับพลันในเวลาอันสั้น แต่สัญญาณเตือนหายนะภัยได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันพุธที่ 9 มีนาคมไปก่อนหน้า โดยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.2 ตามมาตราแมกนิจูด จุดศูนย์กลางอยู่ห่างจากศูนย์กลางในวันที่ 11 มีนาคมไปเพียง 42 กม.และยังมีแผ่นดินไหวตามอีกราว 3 ครั้งในวันนั้น วัดความรุนแรงได้ไม่ต่ำกว่า 6 แมกนิจูด นักธรณีวิทยาให้คำจำกัดไว้ดังนี้

- ความแผ่นดินไหวในวันที่ 9 มีนาคม 2011 เป็น "แผ่นดินไหวนำ - ฟอร์ช็อก (Foreshock)"

- ตามมาด้วย "แผ่นดินไหวหลัก - เมนช็อก (Mainshock)" ในวันที่ 11 มีนาคม

- และตามมาด้วย "แผ่นดินไหวตาม - อาฟเตอร์ช็อก (Aftershock)" อีกหลายพันครั้งหลังจากวันที่ 11

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้นักธรณีวิทยาญี่ปุ่นได้นำมาปรับใช้กับเหตุการณ์แผ่นดินไหวหลังจากนั้นอีกหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ ทุกเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่วัดความรุนแรงได้เกินระดับ 6 จะถูกจับตาอย่างใกล้ชิดเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการเกิด "เมนช็อก" ในวันต่อมาหรือไม่

ชอบบทความนี้หรือไม่? รับทราบข้อมูลโดย เข้าร่วมรับจดหมายข่าว!

ความเห็น

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนเพื่อแสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับผู้เขียน

โลกใบใหญ่ เฟ้นหาบทความมาเขียนให้อ่าน เกาะติดสถานการณ์โลก แสดงความเห็นไปด้วยกัน มีหลากหลายช่องทางทั้ง Facebook - โลกใบใหญ่ / Twitter - โลกใบใหญ่ / Blockdit - โลกใบใหญ่ / Youtube - โลกใบใหญ่

บทความล่าสุด
เม.ย. 28, 2023, 2:40 หลังเที่ยง Sugarmommy
เม.ย. 28, 2023, 2:37 หลังเที่ยง เบญจพิธพร
เม.ย. 27, 2023, 12:49 หลังเที่ยง ศลิล ตันวิสุทธิ์