Breakfast at Tiffany's (1961) : นงเยาว์นิวยอร์คฉบับครบรอบ 60 ปี

Breakfast at Tiffany's (1961) : นงเยาว์นิวยอร์ค

Director  : Blake Edwards

Screenplay : George Axelrod (based on the novel by Truman Capote) 

Actors : Audrey Hepburn, George Peppard, Patricia Neal, Mickey Rooney

Genre : Comedy, Drama, Romance

Score : 8.5/10

"หญิงสาวบ้านนอกออกตระเวนจับผู้ชายฐานะดีเพื่อต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตตนเอง แม้ต้องแลกด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีก็ไม่หวั่น ขอเพียงวันนึงได้เป็นไฮโซสาวกับเขาบ้าง บั้นปลายชีวิตจะได้สบาย"

 

ประโยคข้างตนน่าจะเป็นใจความที่บ่งบอกอุปนิสัยตัวละคร Holly Golightly ที่รับบทโดย Audrey Hepburnได้เป็นอย่างดี จากสาวสวยผู้มีภาพลักษณ์เป็นสาวแก่นแก้วจากหนังเรื่องอื่นๆ ต้องผันตัวมารับบทเป็นสาวขายแก้เสี้ยนให้กับเศรษฐี ที่ด้วยข้อบังคับของยุคสมัยในปีที่หนังออกฉาย (ค.ศ. 1961 ) ทำให้หนังไม่สามารถลงรายละเอียดอาชีพที่ผิดศีลธรรมของตัวละคร คำพูดส่อไปในทางเพศ ตลอดจนฉากโป๊เปลือยตามกฎของ Hays Code ได้ แต่กระนั้นเองผู้ชมก็สามารถจินตนาการต่อได้ว่าการที่ตัวละครของ Audrey Hepburn เล่าให้ Paul Varjak ตัวละครที่รับบทโดย George Peppard ฟังว่ามักจะถูกผู้ชายเรียกไปเข้าห้องน้ำด้วยค่าจ้างครั้งละ 50 เหรียญ มันหมายถึงอะไร!!!

 

 Breakfast at Tiffany's ดัดแปลงจากนวนิยายในชื่อเดียวกันโดยผู้แต่ง Truman Capote บอกเล่าเรื่องของสาวน้อย Holly Golightly สาวสวยผู้ชื่นชอบชีวิตอิสระไม่ต้องการผูกมัดกับใคร เธอมีความฝันอยากเป็นหนูตกถังข้าวสารได้แต่งงานกับมหาเศรษฐีของประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตบำเรอตนเองด้วยเครื่องเพชรทิฟฟานี ซึ่งเป็นสิ่งเดียวในชีวิตที่เธออยากจะครอบครองเป็นเจ้าของ กระทั่ง Holly ได้พบกับ Paul Varjak ชายหนุ่มอาชีพนักเขียนอิสระที่อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์เดียวกับเธอ การได้พบและสนิทสนมกับ Paul ก่อเกิดเป็นความรู้สึกบางอย่างภายในใจของ Holly หรือนี่จะเป็นความรักจริงๆที่เธอไม่เคยได้รับมาก่อน เป็นความรักอันบริสุทธิ์โดยไม่เกี่ยวพันกับฐานะและเงินทอง

 

หนังเล่าผ่านมุมมองของตัวละคร Paul Varjak ชายหนุ่มผู้เข้ามาพัวพันกับชีวิตของ Holly Golightly ทำให้ผู้ชมรับรู้พื้นเพความเป็นมาของตัวละคร Holly นี้ไปพร้อมๆกับ Paul จากการที่เธอและคนรู้จักของเธอเล่าเรื่องของ Holly ให้ Paul ฟัง ซึ่งพอเราได้รับรู้เรื่องราวของเธอทำให้สามารถสรุปได้ว่าการที่ Holly  กลายเป็นแบบนี้เพราะเธอเคยมีอดีตอันขมขื่นในวัยเด็ก กับการเป็นเด็กที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ไม่ต้องการเธอและพี่ชาย ทั้งสองจึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านเพื่อเผชิญโชคชะตาด้วยตนเอง  จนกระทั่งวันที่ Holly ได้แต่งงานกับชายรุ่นราวคราวพ่อเพราะไปขโมยของบ้านเขา ทำให้เธอต้องกลายเป็นเจ้าสาวในวัยแค่ 14 ปี พร้อมกับภาระดูแลลูกๆของฝ่ายชายที่เธอไม่เคยเต็มใจ จนวันนึง Holly ตัดสินใจหลบหนีอดีตของตนเอง เพื่อเดินทางตามหาฝันยังกรุงนิวยอร์คโดยหวังว่าซักวันจะได้เป็นเศรษฐี ก่อนที่พี่ชายที่เธอเรียกว่า Fred ถูกจะพรากไปจากเธอเพราะต้องไปเกณฑ์ทหาร นั่นทำให้ Holly รู้สึกกลัวที่ถูกพรากครอบครัว พี่ชายที่เธอรักมากที่สุดไป สาวน้อยผู้ไม่เคยอยู่โดดเดี่ยวบนโลกที่กว้างใหญ่ ไม่เคยเข้าใจความหมายของคำว่าความรัก ได้พยายามทำทุกวิธีเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้าง ด้วยการทำให้ตนเองเป็นที่สนใจ ใช้เสน่ห์หว่านล้อมผู้คนเข้ามาหาเพื่อหวังจะได้ตกถังข้าวสารมีชีวิตที่สุขสบายกับเขาบ้าง Holly เชื่อว่าถ้าเมื่อไหร่ที่เธอเป็นมหาเศรษฐี เธอจะใช้เงินเพื่อ "เติมเต็ม" บางอย่างที่ขาดหายไป ในที่นี้อาจจะเป็นความรัก "รักแท้" ที่เธอโหยหามาตลอดชีวิต 

 

สิ่งที่ Holly คิดคือค่านิยมของคนส่วนใหญ่ที่มองว่าความสุขที่แท้จริงสามารถสร้างได้ด้วยการมีเงินทอง มีชื่อเสียงและฐานะทางสังคมที่ดี  เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีสิ่งเหล่านี้ผู้คนก็จะมักจะยกย่อง สรรเสริญและมองว่าเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต นั่นหมายถึงการได้รับ "ความรัก" จากผู้อื่น เพื่อให้มองว่าตนเองเป็นคนสำคัญในสายตาของพวกเขา บางทีค่านิยมนี้อาจจะถูกสร้างขึ้นมาใช้กลบเกลื่อนบางสิ่งที่คนเหล่านั้นขาดไป อาจจะเป็นปมด้อยบางอย่าง เช่น การขาดความรักความเข้าใจจากคนในครอบครัว จนต้องเติมเต็มด้วยวัตถุ สิ่งของเหมือนอย่างที่ Holly ประสบ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นล้วนแต่มีวันบุบสลาย แตกดับไม่ต่างจากร่างกายของเรา ที่วันนึงก็ต้องสูญสลายกลายเป็นอากาศธาตุในที่สุด แต่ก่อนที่วันนั้นจะมาถึง จะดีกว่ามั้ยถ้าเรายอมปล่อยวางวัตถุบ้าง ลดอัตตาความเพ้อฝันของตนเองลงมา เราอาจจะเจอกับรักแท้ คนรักที่ห่วงใยเราจริงๆ รักและยอมรับในสิ่งที่เราเป็น แม้เราหรือเขาคนนั้นจะไม่ใช่คนที่สมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง ไม่ได้ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี ไม่ได้มีชื่อเสียงฐานะทางสังคมที่ดี แต่เป็นคนที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข อยู่ด้วยแล้วสามารถเติมเต็มซึ่งกันและกัน นี่หรือเปล่าคือความรักที่แท้จริง?

 

การที่ Holly พบเจอกับ Paul และเริ่มมีความรู้สึกบางอย่าง อาจเป็นเพราะ Paul ทำให้เธอนึกถึงพี่ชายที่เธอไม่ได้พบเจอมานาน (สังเกตุได้จากการที่ Holly เรียก Paul ว่า Fred ซึ่งเป็นชื่อของพี่ชายเธอ ) ความสัมพันธ์ของทั้งสองได้ไปกระตุ้นความเป็นเด็กในตัว Hollyให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง เด็กหญิงที่ตระเวนหาความรักจากทุกคนและทุกสิ่งที่เธอพบเจอ บัดนี้ได้พบกับรักแท้ที่อยู่เคียงข้างเธอมาตลอด แมวตัวน้อยที่ชอบหลุดออกจากกรงขังเพื่อค้นหาเป้าหมาย (อาหาร) ให้ชีวิต ได้กลับคืนสู่กรงทองในท้ายที่สุด 

 

แม้บทสรุปของหนังจะดูสูตรสำเร็จตามสไตล์ฮอลลีวู้ดไปบ้าง แต่หนังก็ปรุงรสออกมาได้สนุก น่าติดตาม ประเด็นแข็งแรงให้ข้อคิดเตือนใจผู้ชม การแสดงของ Audrey Hepburn, George Peppard และ Patricia Neal ก็ช่วยตรึงผู้ชมให้อยู่กับหนังได้สำเร็จ โดยเฉพาะเสน่ห์และฝีไม้ลายมือของ Audrey ในบท Holly Golightly นั้นโดดเด่นด้วยบุคลิกสาวสวยไม่ยอมโต พอบวกเข้ากับเสื้อผ้าโดย Hubert De Givenchy และ Edith Head ทำให้กลายเป็นภาพจำของผู้ชมเมื่อเอ่ยชื่อหนัง Breakfast at Tiffany's จนถึงทุกวันนี้

 

แนะนำแฟนหนัง Audrey Hepburn คอหนังคลาสสิคและผู้ชมที่ชื่นชอบหลงใหลในแฟชั่นไม่ควรพลาด ???คน

ชอบบทความนี้หรือไม่? รับทราบข้อมูลโดย เข้าร่วมรับจดหมายข่าว!

ความเห็น

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนเพื่อแสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับผู้เขียน
บทความล่าสุด
เม.ย. 28, 2023, 2:40 หลังเที่ยง Sugarmommy
เม.ย. 28, 2023, 2:37 หลังเที่ยง เบญจพิธพร
เม.ย. 27, 2023, 12:49 หลังเที่ยง ศลิล ตันวิสุทธิ์