ปลูกไม้ประดับ สรรพคุณมากหลาย

 

“ปลูกไม้ประดับ สรรพคุณมากหลาย”

 

สำหรับคนที่รักต้นไม้ และรักสุขภาพ พลาดไม่ได้เลยกับการที่จะปลูกไม้ดอกไม้ประดับกลุ่มนี้ ที่นอกจากจะได้ความร่มรื่น ความสวยงามจรรโลงใจมาด้วยแล้ว ยังได้สรรพคุณทางยาติดมาด้วย เป็นการปลูกที่ยิงปืนนัดเดียว แต่ได้คุณประโยชน์ถึงสองเลยทีเดียว และต้นไม้ประดับที่เราจะมาแนะนำในวันนี้จะมีต้นอะไรบ้างนั้น เราไปดูพร้อมกันเลยครับ

 

1.    อัญชัน เป็นพืชที่หลายๆคุ้นชิน และรู้จักจากการเอาดอกไปคั้นเป็นสีผสมอาหาร แต่รู้หรือไม่ดอกอัญชันมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ช่วยยับยั้งการเกิดโรคมะเร็งได้ สารชนิดนี้ก็ยังมีส่วนสำคัญในการบำรุงเส้นผมให้เงางามอีกด้วย ซึ่งเราอาจจะเคยเห็นว่ามักจะมีการนำดอกอัญชันมาหมักผม หรือนำไปทาบริเวณคิ้วเด็กให้คิ้วดกดำขึ้น ซึ่งสารแอนโทไซยานินนั้น ยังมีสรรพคุณช่วยบำรุงสายตา กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ สามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือด รวมถึงช่วยบรรเทาภาวะเสื่อมสภาพของดวงตาอีกด้วย

2.   ดอกเข็มแดง หรือ เข็มเศรษฐี ดอกเข็มเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบเดี่ยวทรงรีป้อม สีเขียว ผิวมัน ขอบใบเรียบ ออกดอกสีแดงเป็นช่อใหญ่ที่ยอดก้าน มีผลกลม เมื่อสุกจะมีเนื้อนิ่มและเปลี่ยนเป็นสีดำ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ และถือว่าเป็นไม้มงคลอีกชนิดหนึ่ง และยังสามารถนำไปใช้รักษาอาการต่าง ๆ ได้ด้วย เช่น สมานแผล แก้อาการสะอึก คลื่นไส้ บรรเทาอาการเจ็บคอได้เช่นกัน

3.จำปี เป็นไม้ดอกที่มีดอกสีขาวนวล ลักษณะคล้ายดอกจำปา กลิ่นหอมในเวลาเย็นและ หอมมากขึ้นในเวลากลางคืน ซึ่งมีสรรพคุณทางยาในการใช้แก้ลม แก้ไข้ บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต และใบจำปีใช้สกัดน้ำมันหอมระเหยได้ รวมถึงสามารถระงับอาการไอ แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง แก้ต่อมลูกหมากอักเสบ และขับระดูขาวได้อีกด้วย โดยจะใช้ใบที่ตากแห้งหรือนำไปผิงไฟให้แห้ง ปริมาณ 10-15 กรัม ต้มกับน้ำรับประทานแก้ไอ และแก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง แต่อย่างไรก็ตามตัวยาสามารถออกฤทธิ์ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

4.    เฟื่องฟ้า เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย มีความยาวประมาณ 1-10 เมตร ลำต้นมีหนาม มีใบทรงรูปไข่ ปลายแหลม โคนมน ขอบเรียบ ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกมีขนาดเล็กสีขาว ส่วนที่มีสีจะแตกต่างกันออกไปหลายสี เช่น ชมพู ม่วง แดง เหลือง เป็นส่วนของใบดอก แต่ละดอกก็จะมีใบดอก 3 ใบ ขยายพันธุ์ได้ด้วยการตอนกิ่ง ปักชำ และเสียบยอด ชอบดินร่วนปนทราย ความชื้นต่ำ และแสงแดดเต็มวัน ส่วนประโยชน์หรือสรรพคุณของเฟื่องฟ้านั้น นอกจากจะสามารถใช้ทำอาหารได้แล้ว ยังมีการศึกษาพบว่าเฟื่องฟ้าช่วยบำรุงสุขภาพและนำไปรักษาโรคได้ เช่น ป้องกันการติดเชื้อ รักษาอาการไอ เจ็บคอ ท้องเสีย เป็นต้น 

5.    พิกุล ดอกไม้ชื่อไพเราะและมีกลิ่นหอมนี้ เป็นไม้ยืนต้นที่นิยมปลูกประดับบ้านเพื่อเสริม    สิริมงคล และยังมีสรรพคุณเป็นยาหอม บำรุงหัวใจ แก้เจ็บคอ และดอกสามารถนำไปสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้ และน้ำมันหอมระเหยจากดอกพิกุล ใช้ทาแก้ปวดเมื่อย เปลือกต้นพิกุลสามารถนำมาต้มอมบ้วนปากแก้โรคเหงือกอักเสบ เนื้อไม้มีกลิ่นหอม ใช้บำรุงตับ ปอด หัวใจ และบำรุงครรภ์ได้อีกด้วย

6.   ว่านหางจระเข้ เป็นพรรณไม้ล้มลุก มีความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร ลำต้นเป็นข้อปล้องสั้น ใบเดี่ยว หนา ยาว และอวบน้ำ มีจุดสีขาว ขอบใบมีหนาม ด้านในเป็นเจลสีเขียวอ่อน มีดอกสีแดงอมเหลือง ก้านดอกยาว เป็นพืชที่มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการอักเสบทางผิวหนังได้ โดยใช้เจลใสด้านในถูผิวหนังบริเวณที่มีอาการ เช่น แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก รอยไหม้จากการออกแดดหรือฉายรังสี และยังช่วยช่วยสมานแผลจากของมีคมและแผลถลอกได้เช่นกัน ซึ่งวานหางจระเข้นั้น เป็นต้นไม้ที่ปลูกง่าย ดูแลง่าย ปลูกในกระถาง หรือลงดินก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถเจริญเติบโตได้ดี แม้จะปลูกในดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์หรือช่วงที่มีสภาพอากาศแห้งแล้งก็ตาม

7.    บานไม่รู้โรย ดอกไม้ที่เรามักจะเห็นในพวงมาลัยและกระทงเป็นไม้ดอกล้มลุก ดอกมี   หลายสี เช่น สีขาว ชมพู แดง และม่วง เจริญเติบโตได้เร็ว และมีสรรพคุณทางยา ดอกมีรสจืด ใช้บำรุงตับ แก้ตาเจ็บ แก้ไอ ระงับหอบหืด ขับปัสสาวะ แก้บิด แก้ปวดศีรษะ แก้แผลผื่นคัน ส่วนใบนำมาขับพยาธิ ต้นและรากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ รักษาหนองใน

8.    ดาวเรือง เป็นไม้ล้มลุก ความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ลักษณะของใบคล้ายขนนก ออกดอกเป็นช่อ แต่อยู่กระจุกเดียวกันที่ก้านดอก มีทั้งสีเหลืองและสีส้ม เมล็ดเรียวยาว เป็นต้นไม้ที่นอกจากจะปลูกสร้างอาชีพ สร้างรายได้ หรือปลูกจัดสวนไว้ตัดดอกไปทำประโยชน์อื่น ๆ ก็ได้ เช่น ร้อยมาลัยสำหรับถวายพระหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และนอกจากนี้ ดาวเรือง ยังเป็นต้นไม้ที่มีสรรพคุณทางยา เช่น ช่วยบรรเทาอาการผิวหนังติดเชื้อ โดยจะไม่ได้ใช้ต้นหรือดอกสดๆ ขยี้โดยตรง แต่จะนำไปทำขี้ผึ้งหรือใช้เป็นส่วนผสมของครีมก่อนนำมาใช้ในการรักษา ส่วนการปลูกดาวเรืองก็ไม่ยาก ปลูกได้ตลอดทั้งปี ทุกพื้นที่ เป็นต้นไม้ที่โตได้เร็ว แข็งแรง และไม่ค่อยมีโรค

9.  โรสแมรี่ สมุนไพรที่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ปลูกลงดินหรือปลูกในกระถางก็ได้ ใบมีลักษณะคล้ายเข็ม ความยาว 2-4 เซนติเมตร ด้านบนสีเขียวแต่ท้องใบสีขาวและมีขนปกคลุม มีกลิ่นหอม มีดอกหลายสี อาทิ ขาว ชมพู ม่วง และฟ้า สามารถใช้ปรุงอาหารได้ นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณทางยาช่วยบำรุงและกระตุ้นการทำงานของร่างกาย อาทิ กลิ่นโรสแมรี่ ช่วยทำให้สามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ชะลอภาวะสมองเสื่อม และนอกจากนี้ยังช่วยลดอาการปวดของกล้ามเนื้อ แก้ปัญหาอาหารไม่ย่อย แถมมีสารต้านอนุมูลอิสระด้วย

10.ปาล์มใบเลื่อย (Saw Palmetto) ปาล์มกอ เป็นพืชทนแล้ง ปลูกประดับบ้านได้ ความสูงประมาณ 2 เมตร มีใบลักษณะเป็นรูปพัด ความกว้างประมาณ 1 เมตร ขอบใบหยักลึก แตกเป็นใบย่อย 10-15 ใบ ออกดอกสีขาวเป็นช่อ ผลกลมขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร มีสีดำเมื่อผลสุก นิยมนำสารสกัดจากผลใช้รักษาต่อมลูกหมากโต ผมร่วง รักษาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย และยังทำให้รู้สึกผ่อนคลายยิ่งขึ้น

11. ต้นเสจ สมุนไพรที่นิยมปลูกในครัว เพราะใช้ทำอาหารได้ เป็นพรรณไม้พุ่ม ใบออกเป็นคู่ตรงข้ามรูปยาวรี ปลายใบแหลม ก้านใบยาวสุดได้ประมาณ 4.5 เซนติเมตร ดอกสีน้ำเงิน ชมพู และขาว มีผลขนาดเล็กสีดำ สรรพคุณช่วยลดแก๊สในกระเพาะอาหาร อาหารไม่ย่อย แก้อาการลมหายใจเหม็น และปรับสมดุลฮอร์โมนของผู้หญิงในระหว่างมีประจำเดือน

12. ต้นส้มจีน (Mandarin Orange) พรรณไม้พุ่ม ปลูกในกระถางได้ หากปลูกลงดินความสูงจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 เมตร แตกกิ่งมาก ใบเป็นรูปไข่มนรี ขอบใบหยัก ผิวใบเรียบเป็นมัน ออกดอกสีขาวเป็นช่อบริเวณง่ามใบและปลายยอดกิ่ง สีขาวอมเหลือง มีผลกลมเนื้อนิ่มสีเขียว แต่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแดงเมื่อสุก ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม การปลูกนั้นไม่ยาก แต่ควรดูแลเรื่องการรดน้ำเป็นพิเศษ

13. คาโมมายล์ (Chamomile) มีอายุไขอยู่ที่ 1 ปี มีลำต้นสูง 20-30 เซนติเมตร ใบคล้าย    ขนนก ออกดอกสีขาวขนาดเล็กคล้ายดอกเก๊กฮวย เกสรสีเหลือง ความยาวก้านดอกประมาณ 15-20 เซนติเมตร มีเมล็ดขนาดเล็ก ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด นิยมนำมาชงเป็นชา ซึ่งจะช่วยในเรื่องของอาหารไม่ย่อย ลดการอักเสบของผิวหนัง อีกทั้งยังทำให้นอนหลับสบายขึ้นอีกด้วย

14. ว่านรางจืดเป็นไม้เลื้อยThunbergia laurifolia Lindl. (Blue Trumpet wine) ออกดอกเป็นช่อห้อยลงตามซอกใบ แต่ละช่อมี 3 – 4 ดอก ใบประดับสีเขียวประแดง กลีบเลี้ยงรูปจาน ดอกรูปแตรสั้น โคนกลีบดอกมีสีเหลืองอ่อน เชื่อมติดกันเป็นหลอด ว่านรางจืดสามารถนำใบไปตากแห้งชงเป็นชาดื่ม มีสรรพคุณกำจัดพิษ แก้เมาค้าง บรรเทาอาการผื่นแพ้ และลดความร้อนในร่างกาย เหมาะกับสภาพอากาศในเมืองไทย หรือนำใบมาโขลกให้ละเอียดผสมน้ำซาวข้าว กรองเอาเฉพาะน้ำให้ผู้ที่กินยาฆ่าแมลงดื่ม เพื่อถอนพิษก่อนนำส่งโรงพยาบาล

15. ลั่นทมหรือลีลาวดี จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มี 2 ประเภท ลั่นทมแดงและลั่นทมขาว ดอกลั่นทมมีกลิ่นหอมสามารถรับประทานได้ ไม่มีพิษ ชงเป็นชาดื่มแก้ร้อนใน แก้บิด และแก้ไข้มาลาเรียโดยการใช้ดอกหรือดอกตูมกินกับใบพลู ใบและต้นของลั่นทม มีสารต้าน   เนื้องอก ใช้ลดการฟกช้ำ และรักษาแผลเรื้อรัง แก่น ใช้เป็นยาแก้ไอ แก้กระหายน้ำ เปลือกราก เป็นยาถ่ายอย่างแรง เปลือกของต้นลั่นทม มีสารซึ่งสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อเอชไอวีได้(สายพันธุ์ที่เคยถูกทดลองมาแล้วคือ ลั่นทมแดง) ยางของลั่นทมขาวใช้ทาแก้โรคงูสวัด หิด และลดอาการปวดข้อได้

16. หงอนไก่ เป็นดอกไม้ที่นิยมปลูกประดับสวนเป็นไม้ดอกล้มลุก ช่อดอกมีขนาดใหญ่ มีดอก 1-3 ดอก หลายสี เช่น สีขาว ชมพู แดง และม่วง ช่อของดอกหงอนไก่มีรสจืดใช้บำรุงตับ แก้ไอ ไอกรน ระงับหอบหืด ขับปัสสาวะ แก้บิด แก้ปวดศีรษะ และแก้แผลผื่นคัน ใบของต้นหงอนไก่สามารถขับพยาธิ ต้นและรากเป็นยาขับปัสสาวะ รักษาหนองในและระดูขาว

 

 

ชอบบทความนี้หรือไม่? รับทราบข้อมูลโดย เข้าร่วมรับจดหมายข่าว!

ความเห็น

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนเพื่อแสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับผู้เขียน

นักเขียนบทความตัวน้อย แค่รักในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่รัก

บทความล่าสุด
เม.ย. 28, 2023, 2:40 หลังเที่ยง Sugarmommy
เม.ย. 28, 2023, 2:37 หลังเที่ยง เบญจพิธพร
เม.ย. 27, 2023, 12:49 หลังเที่ยง ศลิล ตันวิสุทธิ์