I think therefore I am: สรุปแนวคิดจากงานเขียนโด่งดังของเรอเน เดการ์ต Meditations on First Philosophy

    เรอเน เดการ์ต คือนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสผู้มีความสามารถมากมายหลายด้าน เขาเป็นทั้งนักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ และนักชีววิทยา ความรู้ความสามารถด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของเขาเป็นจุดประกายสำคัญที่นำไปสู่การเริ่มต้นของปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ จนเรียกได้ว่าเป็นบิดาของปรัชญาสมัยใหม่

 

      ในงานเขียนการครุ่นคิดถึงปรัชญาในขั้นต้น หรือ Meditations on first philosophy เรอเน เดการ์ตแยกเนื้อหาออกเป็น 6 ส่วนด้วยกัน ในเนื้อหาส่วนที่หนึ่ง เขาเริ่มด้วยความพยายามที่จะรื้อโครงสร้างเดิมในปรัชญาทั้งหมดและวางรากฐานใหม่ลงไป ในการครุ่นคิดปรัชญาครั้งนี้ เขามีวัตถุประสงค์ตามหาสิ่งที่เป็นจริงอย่างแน่นอนโดยไม่สามารถสงสัยได้เพื่อไปสู่การวางพื้นฐานของความรู้ที่มั่นคง เรียกได้ว่าจะเป็นสารตั้งต้นนำไปสู่สิ่งจริงอื่นต่อไปได้ เพราะหากสิ่งตั้งต้นไม่มีความมั่นคงหรือไม่แน่นอน เช่นนี้ความผิดพลาดก็สามารถเกิดขึ้นได้ และทุกอย่างที่เกิดขึ้นตามมาก็จะผิดไปทั้งหมด 

      เดการ์ตเริ่มจากการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยเชื่อว่าเป็นจริง เขาตัดสิ่งใดก็ตามที่สามารถสงสัยได้ สิ่งที่เราสงสัยได้แม้แต่เพียงเล็กน้อยก็จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเชื่อถือได้อย่างสมบูรณ์ ประสาทสัมผัสเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือสำหรับเดการ์ต เนื่องจากการรับรู้ผ่านผัสสะ ทั้งการมองเห็น การรับรส การได้กลิ่น การได้ยิน และการสัมผัส สามารถหลอกให้เราเข้าใจผิดได้ในบางครั้ง แม้จะไม่ตลอดเวลา แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเชื่อถือได้ เขากล่าวว่าเมื่อมีสิ่งใดที่หลอกลวงเราไปแล้ว แม้เพียงหนึ่งครั้ง เราก็ไม่ควรที่จะเชื่อถือสิ่งนั้นต่อไปได้อีก

      วิธีการตั้งข้อสงสัยถึงทุกอย่างของเดการ์ต นำไปสู่การครุ่นคิดเกี่ยวกับคำถามที่พิสดารและดูบ้าบิ่นอยู่ไม่น้อย อย่างเช่นคำถามที่ว่า “เราจะรู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้กำลังฝันอยู่?”หรือแม้แต่ “เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราไม่ใช่คนที่มีความผิดปกติทางด้านประสาท” เราอาจจะเป็นคนบ้าที่ไม่สามารถรู้ตัวเองได้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเชื่อว่าจริง ล้วนสงสัยได้ทั้งสิ้น เราอาจจะกำลังถูกหลอกลวงโดยสิ่งที่ชั่วร้ายที่ทำให้เราเชื่อในสิ่งที่เราเชื่ออยู่ตอนนี้ แม้ว่าสิ่งที่เราเชื่อจะไม่มีสิ่งไหนที่เป็นจริงเลยก็เป็นได้

      เนื้อหาในส่วนที่สองจาก Meditation แสดงผลลัพธ์จากการพยายามค้นหาสิ่งจริงและสงสัยไม่ได้ เป็นที่มาของประโยคโด่งดังของเดการ์ต นั่นคือ “เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” “I think therefore I am”ในภาษาอังกฤษ และ “cogito ergo sum” ในภาษาละติน จากการครุ่นคิดนี้ เขาได้คำตอบว่าแม้ทุกอย่างจะไม่จริง แม้ว่าจะมีบางสิ่งที่หลอกลวงให้เราเชื่อตามที่ผัสสะ หรือเราอาจจะฝันอยู่ หรือแม้ว่าเราจะเป็นคนบ้า และสิ่งที่เราเชื่อว่าจริงไม่มีอะไรที่เป็นจริงตามที่เราเชื่อเลย อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดแล้ว การมีบางสิ่งหลอกลวงอยู่นั้น หมายความว่าจะต้องมีสิ่งที่ถูกหลอกลวงอยู่เช่นกัน สิ่งนั้นจึงจำเป็นต้องมีอยู่จริง เรา ที่อาจจะกำลังถูกหลอกอยู่จึงมีอยู่จริงในสถานะที่เป็น “สิ่งที่คิดได้” ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรากำลังคิดและสงสัยอยู่จริงโดยไม่สามารถสงสัยได้อีก เพราะการสงสัยว่าตนเองกำลังสงสัยอยู่จริงหรือไม่ ไม่อาจเกิดขึ้นได้และเป็นการปฏิเสธในตัวเอง 

      ในส่วนคำถามที่ว่าตัวตนในแง่ของร่างกายเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงหรือไม่นั้นจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่แน่นอนและสงสัยไม่ได้นั้นคือ เราในฐานะบางสิ่งที่กำลังคิดหรือสงสัยนั้นมีอยู่จริง ตรงกันข้ามกับแนวคิดวิมตินิยม หรือ Skepticism ซึ่งเป็นแนวคิดที่สงสัยในทุกสิ่งและไม่เชื่อในแนวคิดใดเลย ข้อเสนอของเดการ์ตมาแย้งกับแนวคิดวิมตินิยมได้อย่างสมบูรณ์ เพราะหากลองพิจารณาดูแล้ว การไม่เชื่อว่ามีสิ่งใดจริงอยู่เลย ถือเป็นการเชื่ออย่างหนึ่งที่มาจากความคิด และนั่นก็จะนำกลับไปสู่สารตั้งต้นหลักของเดการ์ตในที่สุด

      จากนั้น เมื่อรู้แล้วว่าสิ่งที่เป็นจริงอย่างแน่นอนคือ เรามีอยู่จริงในสถานะที่เป็น อะไรก็ตามที่คิดได้ ในขั้นตอนต่อมา เดการ์ตจึงพยายามหาต่อไปว่า เราในสถานะที่เป็นสิ่งที่คิดได้นี้ สิ่งนี้คืออะไรกันแน่ โดยการเริ่มจากความคิดตามสัญชาติญาณของมนุษย์ โดยปกติแล้ว เมื่อตั้งคำถามว่าตนเองคืออะไร ก็จะตอบได้ว่าเป็นสิ่งที่มี “กาย” หรือ body เดการ์ตอธิบายว่ากายเป็นสิ่งที่กินพื้นที่ และสามารถรับรู้ได้โดยผัสสะต่าง ๆ ซึ่งเขาได้อธิบายต่อไปว่า หากร่างกายหรือสิ่งที่รับรู้ได้นี้ไม่มีอยู่จริง และเป็นการหลอกลวงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ก็จำเป็นที่จะต้องมี “จิต” ซึ่งเป็นเจ้าของการรับรู้เหล่านี้ สามารถทั้งสงสัย เข้าใจ ยืนยัน ปฏิเสธ เจตนา ไม่เจตนา และจินตนาการภาพได้

     เดการ์ตยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงทางรูปทรง สี ขนาด กลิ่น และสัมผัสของเทียนไขให้เห็นว่าการรับรู้เกี่ยวกับเทียนไขสามารถเปลี่ยนไปได้เสมอ แต่เราสามารถเข้าใจได้ว่าเทียนไขที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ นี้ยังคงเป็นสิ่งเดิมอยู่ คือ เทียนไขนั่นเอง กล่าวได้ว่าเรามีความเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ด้วย จิต ของเรา เดการ์ตสรุปว่าความสามารถในการรับรู้อย่างเข้าใจนี้จึงแยกจิตออกจากสิ่งอื่น ๆ ภายนอก หรือ objective reality โดยจิตคือสิ่งที่เป็นศูนย์กลางของการรับรู้ และ สิ่งภายนอกคือสิ่งที่ได้รับการรับรู้

      เนื้อหาในส่วนที่สามจาก Meditations เดการ์ตอธิบายถึงความจำเป็นในการมีอยู่ของพระเจ้า โดยเริ่มจากการอธิบายกระบวนการของจิต ว่าด้วยการได้มาของความรู้ เขาอธิบายว่าจิต คือสิ่งที่เป็นตัวระบุ หรือกำหนดความเป็นจริง โดยใช้ความคิดที่มีมาตั้งแต่เกิด หรือinnate idea เป็นสิ่งที่ใช้ในการเชื่อมโยงระหว่างความคิดภายในจิตกับสิ่งอื่นภายนอก 

สำหรับเดการ์ต ความคิดที่มีมาตั้งแต่กำเนิดคือที่มาของความรู้ซึ่งปรากฎอยู่ในจิตตั้งแต่เริ่มต้น และเป็นสิ่งที่ทำให้สามารถระบุบ่งชี้สิ่งต่าง ๆ ภายนอกจิตได้ เมื่อเรามีความคิดเกี่ยวกับสิ่งใดภายนอก นำไปสู่การเกิด Formal reality ภายในจิต  ที่จะเชื่อมโยงไปสู่การระบุสิ่งอื่นภายนอกจิต (objective reality) ได้ โดยเดการ์ตยืนยันว่าความคิดที่มีมาตั้งแต่กำเนิดมีอยู่ แต่เราไม่สามารถระบุที่มาได้

 เดการ์ตกล่าวต่อไปว่า เขากำหนดให้ตนเป็นบางสิ่งที่สามารถคิดได้โดยมีข้อจำกัด และไม่ใช่สิ่งที่สมบูรณ์แบบซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาสามารถถูกหลอกลวงได้อยู่เสมอ แต่พระเจ้าคือสิ่งที่อยู่เหนือทุกสิ่ง พระเจ้าเป็นสิ่งที่ไม่มีข้อจำกัด และสมบูรณ์แบบ พระเจ้าทำให้ทุกสรรพสิ่งที่มีข้อจำกัดมีอยู่จริงตามที่เป็นโดยปฏิเสธไม่ได้ 

อย่างไรก็ตามการพิสูจน์เช่นนี้ของเดการ์ตไม่ต้องการสื่อความว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง แต่เป็นในการพิสูจน์อยู่บนพื้นฐานของการใช้เหตุผลที่ว่าถ้าสิ่งหนึ่งเป็นจริง อีกหนึ่งสิ่งที่ตามมาย่อมเป็นจริง เช่นเดียวกับประโยค เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่ กล่าวคือ เราสามารถอนุมานได้ว่า เพราะพระเจ้ามีอยู่ สิ่งอื่นภายนอกจิตจึงมีอยู่ และเพราะสิ่งอื่นภายนอกมีอยู่จริง ความรู้ที่เกิดขึ้นภายในจิตก็มีอยู่จริงด้วย 

      อย่างไรก็ตาม ในเนื้อหาส่วนที่สี่ เดการ์ตทำให้เราเห็นว่าการมีอยู่จริงของทั้งพระเจ้า ตัวเราในฐานะที่เป็นสิ่งที่คิดได้ ความคิดที่มีมาตั้งแต่เกิด และสิ่งต่าง ๆ ภายนอกเหล่านี้ ไม่ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เป็นไปได้อย่างถูกต้องเสมอ เราสามารถเกิดความเข้าใจผิดกับสิ่งต่าง ๆ ได้ เรียกว่า ความผิดพลาด หรือ Falsity สาเหตุความผิดพลาดนี้มาจากกระบวนการเชื่อมโยงที่ผิด ไม่ได้มีสาเหตุมาจากความคิดที่มีมาตั้งแต่กำเนิดที่ผิด หรือสิ่งต่าง ๆ ภายนอกที่ผิด แต่เป็นที่จิตของเราเกิดการเชื่อมโยงผิดพลาดเอง เป็นเพราะการขาดความเข้าใจ หรือลังเลใจ 

      ในเนื้อหาส่วนที่ห้า แสดงการครุ่นคิดเป็นครั้งที่สองในเรื่องสิ่งต่าง ๆ และการมีอยู่ของพระเจ้า เดการ์ตกล่าวได้อย่างน่าคิดตามว่า เราสามารถจินตนาการภาพม้าที่มีปีกได้ แม้ว่าจะไม่มีม้าตัวไหนที่มีปีกเลยก็ตาม ดังนั้น การนึกถึงพระเจ้า อาจไม่ได้อนุมานได้ว่าพระเจ้ามีอยู่จริงได้เช่นกันหรือไม่? จากนั้นเขาก็เสนอคำตอบว่าสุดท้ายแล้ว พระเจ้าจำเป็นต้องมีอยู่ เนื่องจากการมีความคิดเกี่ยวกับพระเจ้า จำเป็นต้องมีขึ้นโดยผูกอยู่กับความคิดว่าพระองค์มีอยู่ เรานึกถึงพระเจ้าโดยแยกพระเจ้าออกจากการมีอยู่ของพระองค์ไม่ได้ พระเจ้าจึงจำเป็นต้องมีอยู่จริงจากการที่เรามีความคิดเกี่ยวกับพระองค์ ดังนั้น พระเจ้าจึงมีอยู่ได้เหตุจากการมีความคิดของเราที่สามารถอธิบายลักษณะของพระองค์ได้ คือลักษณะที่ไม่มีข้อจำกัด และสมบูรณ์แบบ 

      ในเนื้อหาส่วนที่หก ซึ่งเป็นส่วนสุดท้าย เดการ์ตนำเสนอความคิดของเขาว่าด้วยการแยกกันระหว่างจิตและกาย ว่าทั้งสองสิ่งที่สิ่งที่มีลักษณะเป็นของตนเอง จิตคือสิ่งที่รับรู้ มีความสามารถในการคิด สงสัย ยืนยัน ปฏิเสธ เจตนา และไม่เจตนา มีสถานะเป็นสิ่งที่ไม่กินที่ ในขณะที่กายเป็นสิ่งที่กินพื้นที่ เป็นสิ่งที่ถูกรับรู้ได้ผ่านผัสสะต่าง ๆ และแม้ว่าทั้งสองสิ่งจะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่ก็มีลักษณะการทำงานที่เชื่อมโยงกันและกันอยู่ เราเรียกแนวคิดเช่นนี้ว่า ทวินิยม หรือdualism

เห็นได้ว่างานเขียนของเรอเน เดการ์ตชิ้นนี้ มีเนื้อหาสำคัญในด้านปรัชญาสาขาญาณวิทยาที่จะให้ความสำคัญเรื่องความรู้ โดยในจุดยืนของเรอเน เดการ์ต เขามองว่าเหตุผลเป็นแหล่งที่มาของความรู้ซึ่งไม่จำเป็นต้องพึ่งประสบการณ์ เราเรียกแนวคิดนี้ว่า เหตุผลนิยม หรือ rationalism เขามองว่ามนุษย์สามารถเข้าถึงความรู้ได้โดยใช้ทักษะการคิดและใช้เหตุผลก็เป็นสิ่งที่เพียงพอ ทำให้ผลจากการครุ่นคิดของเขามีลักษณะเป็นสมมุติฐาน ซึ่งเป็นคนละสิ่งอย่างสิ้นเชิงกับความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ตามความเชื่อของแนวคิดประจักษ์นิยม หรือ empiricism

จากประโยค “เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” นี้เองคือการต่อยอดจากสิ่งเดิมซึ่งเป็นสิ่งจริงแท้ไปสู่อีกสิ่งที่เป็นจริงตามมา เมื่อการคิดและการสงสัย เป็นสิ่งแน่แท้ที่ไม่สามารถสงสัยต่อได้อีกว่ากำลังสงสัยอยู่จริงหรือไม่ เพราะการสงสัยเป็นการพิสูจน์ได้ว่าต้องมีสิ่งที่เป็นเจ้าของการสงสัยนั้นแล้ว ตัวฉันซึ่งเป็นสิ่งที่คิดหรือสงสัยจึงมีอยู่ 

และความสามารถในการคิดหรือสงสัยนี้เองที่เรอเน เดการ์ตใช้เป็นแกนกลางในปรัชญาของเขา การใช้กระบวนการที่เป็นขั้นเป็นตอนนี้ก็คือ If P then Q เมื่อสิ่งหนึ่งจริง อีกสิ่งที่ตามมาก็ย่อมเป็นจริงเสมอ ประโยคนี้แสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะทำให้ปรัชญาเป็นสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับลักษณะความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ 

เทียบได้กับการบวกเลข เมื่อ 1+1=2 , 2+2=4 เสมอ ลักษณะความเป็นกระบวนการที่เป็นขั้นเป็นตอน จากรากฐานเดิมไปสู่สิ่งใหม่ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าปรัชญาเหตุผลนิยมของเรอเน เดการ์ต มีอิทธิพลมาจากการเรียนรูปแบบใหม่ในสมัยของเขา เรียกว่า Studia humanitatis หรือ มนุษยศาสตร์ (Humanism) คือการเรียนการศึกษาด้วยจุดประสงค์ที่จะเข้าใจตัวมนุษย์เอง รูปแบบการเรียนนี้มีความแตกต่างออกไปจากการเรียนแบบ Scholastic แบบเดิมที่มีศาสนจักรเป็นผู้กำหนดควบคุมเนื้อหาเพื่อนำไปสู่การส่งเสริมและพิสูจน์เรื่องพระเจ้า 

เนื่องจากรูปแบบการเรียนมนุษยศาสตร์ที่มีวิทยาการความรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นองค์ประกอบสำคัญอยู่ด้วย จึงไม่เป็นที่น่าประหลาดใจที่ในงานเขียนของเดการ์ต มีการแยกจิตออกจากกายและสิ่งอื่น ๆ โดยให้จิตเป็นศูนย์กลางการรับรู้ ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญต่อจิตในฐานะเป็นสิ่งที่รับรู้สิ่งอื่น ๆ (Subject) ไปสู่การใช้ “I” ในงานเขียนของเขาที่มีนัยยะให้ความสำคัญกับตัวฉันหรือมนุษย์ในฐานะศูนย์กลางที่รับรู้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ และความเป็นไปรอบตัว

      เรอเน เดการ์ต คือนักปรัชญาคนสำคัญที่วางรากฐานที่มาของความรู้ใหม่โดยวิธีใหม่ จากอิทธิพลของคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่เขาชำนาญ นำไปสู่การท้าทายศาสนจักรและเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการให้ความสำคัญของตัวมนุษย์ในฐานะศูนย์กลางการรับรู้ อย่างน้อยแล้ว เขาได้สร้างสารตั้งต้นที่แน่นอนและสงสัยไม่ได้ คือการมีอยู่ของ “I”  และจุดยืนของเขานำไปสู่การถกเถียงในวงการปรัชญา สร้างการเปลี่ยนแปลงจนท้ายที่สุดญาณวิทยาได้กลายเป็นปรัชญาสาขาสำคัญจนเรียกได้ว่าเป็นหัวใจของปรัชญาตะวันตกเลยทีเดียว

 

นักเขียน: ฮูกขี้เซา

 

อ้างอิง

(n.d.). ญาณวิทยาของ เรอเน เดส์คาร์ตส์. Retrieved January 30, 2023, from http://old-book.ru.ac.th/e-book/p/PY234(53)/PY234-4.pdf

วอร์เบอร์ตัน, ไ. (2018). ปรัชญา: ประวัติศาสตร์สายธารแห่งปัญญา. Bookscape.

Descartes, R., & Veitch, J. (2022, November 27). Meditations on First Philosophy. Wikisource. https://en.wikisource.org/wiki/Meditations_on_First_Philosophy

ชอบบทความนี้หรือไม่? รับทราบข้อมูลโดย เข้าร่วมรับจดหมายข่าว!

ความเห็น

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนเพื่อแสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับผู้เขียน

นักเขียนขี้เซา ชอบหมาแมว และมัทฉะลาเต้ สนใจปรัชญา ประวัติศาสตร์ และวรรณกรรมเป็นพิเศษ

บทความล่าสุด
เม.ย. 28, 2023, 2:40 หลังเที่ยง Sugarmommy
เม.ย. 28, 2023, 2:37 หลังเที่ยง เบญจพิธพร
เม.ย. 27, 2023, 12:49 หลังเที่ยง ศลิล ตันวิสุทธิ์