มิลินทปัญหา-ปัญหาโบราณสุดหิน แม้แต่เรายังอาจตอบไม่ได้

มิลินทปัญหา เป็นเรื่องราวที่ได้เกิดขึ้นในอดีตกาลที่ล่วงเลยมา ราว พ.ศ. 400-500 ในยุคที่สังคมถูกปกครองโดยระบอบราชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นแกนกลางของแผ่นดิน สังคมยุคนั้นผู้คนอยู่ด้วยระบบเกษตรกรรมอยู่โดยอิงอาศัยธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ผู้คนต่างพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกัน มีการแลกเปลี่ยนสิ่งของซึ่งกันและกัน สังคมอยู่กันอย่างสงบ แต่ก็มีการรบกันบ้างเป็นครั้งคราว ส่วนการศึกษานั้นก็มีความก้าวหน้าค่อนข้างมาก มีการศึกษาศิลปะ วัฒนธรรม และปรัชญาที่ค่อนข้างรุ่งเรือง โดยเฉพาะด้านปรัชญานั้นหากกษัตริย์ หรือผู้ปกครองแว่นแคว้นมีความสนใจด้วยแล้ว ย่อมทำให้การศึกษาศาสตร์นั้นเกิดความเฟื้องฟู และเป็นธรรมดาที่ศาสตร์นั้น จะท้าทายศาสตร์อื่น เพื่อชูให้เห็นว่าศาสตร์ของตนเหนือกว่าศาสตร์อื่นโดยไม่มีที่ติ แต่ความท้าทายก็ถูกเล่าขานมาถึงยุคปัจจุบันเพราะศาสตร์ที่ถูกท้าทายนั้นก็คือพุทธศาสตร์

   พระยามิลินท์ หรือพระเจ้าเมนันเดอร์ เป็นกษัตริย์ชาวกรีกที่มีความฉลาดปราดเปรื่องเป็นอย่างมาก มีความสามารถขนาดตั้งวิวาทะ โต้กับความเชื่อ หรือคำสอนต่าง ๆ จนกระทั้งกลุ่มผู้เผยแพร่คำสอนเหล่านนั้นต้องยอมสยบ และหนีไปเป็นจำนวนมาก แต่แม้ว่า พระยามิลินท์จะมีความสามารถเก่งกล้าขนาดไหน ก็ต้องยอมแพ้ต่อพระนาคเสน ผู้เป็นประดุจฝั่งที่รองรับคลื่นอันเกิดจากมหาปัญญาของพระเจ้ามิลินท์ ได้ทุกครั้งไป พระนาคเสนนั้นได้บวชตั้งแต่เยาว์วัยมีความแตกฉานในพระไตรปิฏก และฉลาดในอรรถาธิบายต่าง ๆ ขยายหลักธรรมให้พิสดาร ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ แทงตลอดในธรรมทั้งปวงประดุจลมที่พัดไปโดยไม่ติดไม่ข้องไปในวัตถุต่าง ๆ ก็ฉันนั้น เราจะเห็นปัญญาการให้เหตุผลของทั้ง 2 ท่านที่ไตร่ตรองดูแล้วทำให้รู้สึกทึ่งเป็นอย่างมาก ส่วนคำถามแรกที่พระเจ้ามิลินท์ถามพระนาคเสนคือ นาคเสนคืออะไรกันแน่ ?

นาคเสน คืออะไรกันแน่ 

พระเจ้ามิลินท์ หวังจะลองภูมิของพระนาคเสน จึงเข้าไปถามพระนาคเสนว่า 

มิลินท์. ท่านชื่ออะไร

นาคเสน. เราชื่อนาคเสน คนอื่นเรียกเราว่า นาคเสนบ้าง วีรเสนบ้าง สูรเสนบ้าง แต่ชื่อที่เขาเรียกเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งสมมุติ ไม่มีเราจริง ๆ ในชื่อเหล่านี้ ไม่สามารถค้นหาตัวตนจริง ๆ ของเราในชื่อเหล่านี้ได้

มิลินท์. ถ้างั้นก็ขอให้บุคคลที่อยู่ที่โดยรอบการสนทนาระหว่างเราและท่านนี้แหละเป็นพยาน หากท่านกล่าวว่า นาคเสน ไม่มีจริง ๆ หรือตัวตนท่านไม่มีจริง ๆ แล้วเวลาท่านรับบิฑบาตร ไตรจีวร ยาต่างๆ หรือแม้แต่ที่อยู่อาศัย โดยมีบุคคลผู้ศรัทธานำมาถวาย หากไม่มีตัวท่านจริง ๆ แล้วใครรับทานเหล่านั้น หรือถ้าไม่มีบุคคล ตัวตนจริง ๆ ดังที่ท่านกล่าว เวลาใครทำกรรมดี หรือความชั่ว ก็ไม่ต้องมีคนรับผลของกรรมนั้นนะซิ (แล้วพระเจ้ามิลินท์ก็ถามต่อ ว่า แขน ขา ศรีษะ เลือด กระดูก อวัยวะภายใน หรืออวัยวะภายนอก เป็นนาคเสน พระนาคเสนก็ปฏิเสธหมด) พระเจ้ามิลินท์กล่าวว่า พระนาคเสนโกหก ไม่มีอะไรเป็นจริงเป็นจังซักอย่าง แล้วพระนาคเสนจึงถามกลับ

นาคเสน. พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ มาที่นี่ด้วยวิธีการใด

มิลินท์. เรามาด้วยรถพระคุณเจ้า

นาคเสน. ถ้างั้นท่านทั้งหลายที่อยู่ ณ ที่นี่จงเป็นพยานแก่เราเสียเถิด เราจักถามพระเจ้ามิลินท์ เราขอถามพระองค์ว่า อะไรเป็นรถ ล้อนี่หรือเป็นรถ

มิลินท์. ไม่ใช่พระคุณเจ้า

นาคเสน. งั้นหลังคานี่ หรือเป็นรถ

มิลินท์. ไม่ใช่พระคุณเจ้า

นาคเสน. งั้นก็เพลานี่ หรือเป็นรถ

มิลินท์. ไม่ใช่พระคุณเจ้า

นาคเสน. งั้นที่นั่ง เสาหลังคา ที่เก็บของนี่หรือเป็นรถ

มิลินท์. ไม่ใช่พระคุณเจ้า

นาคเสน. ทำไมพระองค์ถึงโกหก เป็นถึงกษัตริย์แต่ทำไมถึงโกหก

มิลินท์. เราไม่ได้โกหก ฟังเราอธิบายก่อนคือ ไม่ว่าจะเป็นล้อ เพลา หลังคา เสาหลังคา ที่นั่ง ที่เก็บของ หากแยกออกอย่างนั้นไม่มีหรอกรถ แต่เมื่อมาประกอบรวมกันจึงเรียกว่ารถ

นาคเสน. เช่นเดียวกับเรา การที่พระองค์ถามเราว่า แขน ขา เลือด กระดูก อวัยวะภายใน หรืออวัยวะภายนอก เป็นเราหากแยกอย่างนั้นจะหาเราไม่ได้ เมื่อนำมารวมกันจึงสมมุติว่าเป็นเรา

มิลินท์. พระคุณเจ้าตอบได้ลึกซึ้งกินใจ ไพเราะ แจ่มแจ้งยิ่งนัก

 

         ดั่งที่ได้กล่าวมาพระนาคเสนพยายามอุปมาให้พระเจ้ามิลินท์ทราบว่า ตัวตนจริง ๆ ของพระนาคเสนไม่ได้มีในสิ่งที่พระเจ้ามิลินท์ถามเลยแม้แต่อยางเดียว แต่เกิดจากการที่สิ่งเหล่านั้นมาประชุมรวมกันจึงสมมุติว่าเป็นพระนาคเสน เพื่อให้คนเขาเรียกชื่อได้ถูกคนเท่านั่นเอง หากพิจารณาเรื่องตัวตนในทางทางพระพุทธศาสนาก็พอจะทราบได้จาก อนัตตลักขณะสูตรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่ พระปัญจวัคคีย์ทั้งห้าว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ( ไม่มีตัวตน ) เช่น พระยามิลินท์ถามพระนาคเสนว่า แขน ขา เลือด กระดูก อวัยวะภายใน หรืออวัยวะภายนอก มีตัวตนของท่านอยู่ในสิ่งเหล่านี้แต่ละอย่างหรือไม่ พระนาคเสนตอบว่าไม่มี เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยงคือต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอด ไม่มีความคงที่ บังคับให้มันเป็นไปตามใจเราไม่ได้จึงไม่ใช่ตัวตนของเรา แม้สิ่งเหล่านี้มาประกอบรวมกันก็เป็นแค่สิ่งสมมุติ เป็นตัวตนสมมุติ เพราะถ้าหากเป็นตัวตนแท้จริงของเราแล้ว ต้องบังคับมันไม่ให้แก่ ให้เจ็บ ไม่ให้ตายได้ แต่เพราะบังคับไม่ได้จึงไม่ใช่ตัวตนจริง ๆ เราก็ไม่สามารถบังคับให้เป็นไปตามอำนาจใจเราได้ถึงแม้บังคับได้ก็ได้เพียงชั่วคราว ไม่ถาวร

 

         อุปมาด้วยหลักการสมัยใหม่ อะไรเรียกว่าตัวตนเราจริง ๆ หากเรามองผิวเผินอาจจะกล่าวได้ว่าก็กายหยาบเรานี้แหละที่เป็นตัวตนเราจริง ๆ เพราะเราสามารถควบคุมมันให้เดิน วิ่ง พูด ได้ แต่ถ้ามองโดยการตัดทอนร่างกายเราลงจริง ๆ เราจะทราบว่าไม่มีอะไรเลยเป็นเป็นตัวเราจริง ๆ ร่างกายที่เราเห็นนี้ประกอบมาจากระบบอวัยวะต่าง ๆ และระบบอวัยวะก็มาจากเนื้อเยื่อ เนื้อเยื่อมาจากเซลล์ เซลล์มาจาก DNA แล้ว DNA มาจากโมเลกุล โมเลกุลมาจากอะตอม อะตอมมาจากโปรตอน นิวตอน และอิเล็กตรอน แล้วในโปรตรอน นิวตอนก็ประกอบด้วยควาร์ก แล้วก็ประกอบด้วย ฮิกส์ ตามลำดับ[1] ( ฮิกส์คืออนุภาคมูลฐาน หรืออนุภาคลำดับต้น ๆ ที่ทำให้เกิดมวล ) ถามว่าเรามีตัวตนภายในสิ่งเหล่านี้หรือไม่ ถ้ามีตัวตนเราจริง ๆ ภายในนั้นต้องบังคับมันได้หมดทุกชิ้น  สั่งการได้หมดทุกชิ้น เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดประกอบกันเป็นตัวเราจึงเรียกว่า ตัวเรา ซึ่งเป็นตัวตนแบบสมมุติ เราไม่สามารถบังคับตัวตนแบบสมมุติให้มันไม่ให้แก่ ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย ไม่ได้ มันจึงไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง 

 

         เราสามารถประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้ในชีวิตเราได้อย่างไร กล่าวคือเมื่อมีคนทำให้เราโกรธ เราก็พิจารณาด้วยใจของเราโดยการแยกเป็นส่วน ๆ ว่า แท้ที่จริงแล้วเราโกรธอะไรเขา เราโกรธเส้นผม โกรธดวงตา โกรธกระดูก โกรธปอด ตับ ม้าม ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็กเขาหรือ พิจารณาไปเรื่อย ๆ สุดท้ายใจของเราจะทราบว่า แท้จริงแล้วเราไม่ได้โกรธอะไรเขาเลย เพราะตัวตนเขาไม่มีในสิ่งเหล่านั้น เป็นต้น


 

[1]  ในทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงการลดทอนเมล็ดข้าวเปลือกลงเรื่อย ๆ จนกระทั้งถึงระดับปรมณู แล้วมีการกล่าวถึงธาตุที่แบ่งลงไม่ไม่ได้อีกเช่น ปฐวีธาตุ โดยกล่าวว่า ปฐวีธาตุเป็นธาตุที่คงไว้ซึ่งมวลเช่นเดียวกัน มีการกล่าวไว้ในคัมภีร์อภิธรรม เช่นเดียวกัน

สรุปเนื้อหา

   1) พระยามิลินท์ หรือพระเจ้าเมนันเดอร์ เป็นกษัตริย์ชาวกรีกที่มีความฉลาดปราดเปรื่องเป็นอย่างมาก มีความสามารถขนาดตั้งวิวาทะ โต้กับความเชื่อ หรือคำสอนต่าง ๆ จนกระทั้งกลุ่มผู้เผยแพร่คำสอนเหล่านนั้นต้องยอมสยบ และหนีไปเป็นจำนวนมาก 

   2) เมื่อพระยามิลินท์พยายามถามว่านาคเสนคืออะไร พระนาคเสนพยายามอุปมาให้พระเจ้ามิลินท์ทราบว่า ตัวตนจริง ๆ ของพระนาคเสนไม่ได้มีในสิ่งที่พระเจ้ามิลินท์ถามเลยแม้แต่อยางเดียว เช่น ไม่ใช่แขน ขา เลือด แต่เกิดจากการที่สิ่งเหล่านั้นมาประชุมรวมกันจึงสมมุติว่าเป็นพระนาคเสน

   3) เมื่อมีคนทำให้เราโกรธ เราก็พิจารณาด้วยใจของเราโดยการแยกเป็นส่วน ๆ ว่า แท้ที่จริงแล้วเราโกรธอะไรเขา เราโกรธเส้นผม โกรธดวงตา หรือโกรธกระดูกพิจารณาไปเรื่อย ๆ จนการทั้งให้เห็นความเป็นจริง

ชอบบทความนี้หรือไม่? รับทราบข้อมูลโดย เข้าร่วมรับจดหมายข่าว!

ความเห็น

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนเพื่อแสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับผู้เขียน

เปรียญธรรมประโยค 1-2 นักธรรมชั้นเอก

บทความล่าสุด
เม.ย. 28, 2023, 2:40 หลังเที่ยง Sugarmommy
เม.ย. 28, 2023, 2:37 หลังเที่ยง เบญจพิธพร
เม.ย. 27, 2023, 12:49 หลังเที่ยง ศลิล ตันวิสุทธิ์