เมืองที่ไม่มี ณ แห่งหนใด

            ในสภาวะที่บ้านเมืองตรึงเครียด สถิติการฆ่าตัวตายของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 24 ปี กอปรกับโรคระบาด ผู้คนล้มตาย ประชาชนออกมาชุมนุมประท้วง มีการเข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่หลายครั้ง แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ฝูงชนพากันออกมารวมตัวเรียกร้องสิทธิที่ควรจะได้รับ แต่กลับไม่ได้รับความใส่ใจดูแลจากรัฐบาลที่อ้างว่าตนมาจากระบอบประชาธิปไตยเลยแม้แต่น้อย หลายคนเริ่มหมดหวัง หมดศรัทธาจากอุดมคติที่เคยเชื่อมั่น ในการสร้างสังคมที่เสมอภาค เท่าเทียม และเป็นธรรมขึ้นมา จากคำถามที่ว่า ได้อย่างไร’ กลายเป็น จะเป็นไปได้จริงเหรอ

 

            ชวนให้หวนคิดถึงสังคมในอุดมคติที่พวกเราเรียกกันว่า ยูโทเปีย สังคมที่ผู้คนต่างยุคต่างวัฒนธรรมล้วนใฝ่ฝัน โลกที่คนในสังคมอยู่ด้วยศีลธรรมและคุณธรรมในการดำรงชีวิต ไม่มีร้านเหล้า ไม่มีการพนัน อยู่ดีกินดี มีการแบ่งสรรปันส่วนอย่างเป็นระบบ ไม่จำเป็นต้องแก่งแย่งกัน เพราะสิ่งที่จำเป็นในชีวิตมีพร้อมพูนแล้ว ประชาชนต่างทำงานตามหน้าที่ ไม่ใช้เวลาว่างไปในทางเกียจคร้าน แต่ก็ไม่ได้ทำงานแบบเอาเป็นเอาตาย ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข อิ่มหนำสำราญ ทำงานแต่พอดี และสามารถปันเวลาในชีวิตให้กับกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีคุณค่าและมีความหมาย ไม่ให้ความสำคัญกับวัตถุ โดยเห็นว่าเงินและทองเป็นสิ่งหยาบช้า  ไม่มีค่า ไม่มีกฎหมายออกมาบังคับประชาชนมากมาย อยู่ร่วมกันด้วยการให้เกียรติซึ่งกันและกัน

 

            หากแต่ที่กล่าวมาล้วนเป็นเพียงวรรณกรรมที่ โทมัส มอร์ นักปรัชญามนุษยนิยมชาวอังกฤษเขียนขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1516 ตามความหมายของชื่อ ยูโทเปีย ดินแดนที่ไม่มีอยู่จริง แล้วสังคมในอุดมคติที่เราเรียกร้องกันล่ะ เป็นแบบไหน สังคมที่ยอมรับความเห็นต่างของทุกคน สังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกัน เคารพสิทธิของกันและกัน เคารพกฎหมาย เคารพความเป็นมนุษย์ และใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่เป็นรากฐานของชีวิตให้มากกว่านี้ แต่ปัญหาคือหลายคนกลับตอบกลับความคิดนี้ทันทีเลยว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ และเมื่อเป็นไปไม่ได้ก็ไม่ต้องพยายาม เมื่อไม่ต้องพยายามก็ไม่ต้องถามต่อว่า ‘จะทำอย่างไร’ และที่เป็นแบบนี้ เพราะสังคมไทยไม่เคยสอนให้ผู้คนใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับการสอนให้ฝันถึงชีวิตตัวเองที่ดีขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่ชีวิตของใคร นอกจากตัวเอง

 

            “จินตนาการที่ถือว่าเป็นมาตรฐานแห่งความดี ความงาม และความจริง ทางใดทางหนึ่งที่มนุษย์ถือว่าเป็นเป้าหมายแห่งชีวิตของตน.” นั่นคือความหมายของคำว่า อุดมคติ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง สิ่งที่เรียกว่า อุดมคติ” ก็เป็นเพียงแค่จินตนาการอย่างนั้นหรือ ทว่าเหล่าผู้คนที่ต้องการจะอยู่บนโลกที่เป็นดั่งอุดมคติที่สร้างไว้ในจินตนาการ ได้เริ่มลงมือกันแล้ว เริ่มทำในสิ่งที่เป็นหน้าที่ของตัวเอง เริ่มเรียกร้องในสิ่งที่เราจะได้รับ และยืนหยัดต่อสู้เพื่ออุดมคติและอุดมการณ์ มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเท่าเทียมหรือประชาธิปไตย เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่ได้มาภายในหนึ่งหรือสองวัน เมื่อใดก็ตามที่เราไม่ปฏิเสธต่ออุดมคติของตัวเองว่าเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าหลักการของเราจะนำมาซึ่งชัยชนะในวันนี้ พรุ่งนี้ หรือในอีกยี่สิบปีข้างหน้า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นพอมองย้อนกลับมา เราจะไม่เสียดาย

ชอบบทความนี้หรือไม่? รับทราบข้อมูลโดย เข้าร่วมรับจดหมายข่าว!

ความเห็น

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนเพื่อแสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับผู้เขียน
S P
S P

บทความล่าสุด
เม.ย. 28, 2023, 2:40 หลังเที่ยง Sugarmommy
เม.ย. 28, 2023, 2:37 หลังเที่ยง เบญจพิธพร
เม.ย. 27, 2023, 12:49 หลังเที่ยง ศลิล ตันวิสุทธิ์