3 หอยทะเล อุดมธาตุเหล็ก ป้องกันการเกิดโรคโลหิตจาง

ธาตุเหล็ก เป็นองค์ประกอบสำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง และไมโอโกลบินในเซลล์กล้ามเนื้อ มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งก๊าซออกซิเจนให้เซลล์นำไปเผาผลาญสารอาหารให้เป็นพลังงาน การขาดธาตุเหล็กทำให้เกิดโรคโลหิตจาง ร่างกายซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย รู้สึกหงุดหงิด นอนไม่หลับ ภูมิต้านทานโรคลดลง เจ็บป่วยได้ง่าย

ธาตุเหล็กมีอยู่ 2 อย่าง คือ เหล็กฮีม(Heme) และ เหล็กไม่ใช่ฮีม(Non-heme) ธาตุเหล็กในรูปฮีมนั้นร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้โดยตรง โดยสามารถดูดซึมไปใช้ได้ถึงร้อยละ 20 - 30 อาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็กในรูปของฮีม อาทิ เนื้อสัตว์ เลือด ตับ เครื่องใน ไก่ ปลา กุ้ง อาหารทะเล ฯลฯ ในส่วนของหอยทะเลเรามาดูกันค่ะว่ามีหอยทะเลอะไรบ้างที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก

ลำดับแรก คือ หอยแครง เป็นหอยทะเลสองฝา เป็นหอยที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก และยังมีแร่ธาตุ วิตามิน และสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย อาทิ โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส ซิงค์ ทองแดง ไอโอดีน วิตามินเอ วิตามินบี 6 วิตามินซี ฯลฯ

กินหอยแครงช่วยป้องกันการขาดไอโอดีน การเกิดโรคคอพอก ป้องกันการเกิดโรคโลหิตจาง ป้องกันไม่ให้เซลล์เม็ดเลือดแดงมีฮีโมโกลบินลดลง บำรุงประสาทและสมอง บำรุงกระดูกและเล็บ บำรุงฟัน บำรุงร่างกาย ไม่ให้อ่อนเพลีย ล้า และเหนื่อยง่าย ฯลฯ

ผู้เขียนชอบกินหอยแครงลวกจิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ด โดยจะลวกแบบลวกน้ำสมุนไพร วิธีทำก็ง่ายมาก ล้างหอยแครงให้สะอาดเตรียมไว้ จากนั้นต้มน้ำให้เดือด ใส่พริกทุบ ตะไคร้ทุบ ใบมะกรูด กะเพรา โหระพา จากนั้นนำหอยลงไปลวก ลวกประมาณ 40 วินาที หอยแครงจะสุกแบบกำลังน่ากิน(ถ้าใครไม่ชอบแบบมีเลือดหอยแครงติดเลยก็ลวกไปประมาณ 1 นาทีเศษๆ) และมีกลิ่นหอมของสมุนไพร ถ้าผู้เขียนลวกหอยแครงด้วยน้ำสมุนไพรลูกๆ จะชอบกินด้วย บอกกลิ่นหอมชวนกิน ถึงมีเลือดติดก็กินได้ แต่ถ้าลวกแบบน้ำต้มธรรมดาลูกๆ จะไม่กิน

ต่อมา คือ หอยนางรม เป็นหอยทะเลอีกชนิดหนึ่งที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก และสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อาทิ โปรตีน ทองแดง ไอโอดีน แมกนีเซียม แมงกานีส แคลเซียม ซิงค์(สังกะสี) ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 12 วิตามินซี วิตามินดี โอเมกา-3 ทอรีน ฯลฯ

กินหอยนางรมช่วยบำรุงกระดูก บำรุงเล็บ บำรุงเส้นผม (ซิงค์ ช่วยซ่อมแซมเส้นผมและเล็บให้แข็งแรง) บำรุงประสาท บำรุงสมอง ความจำดี บำรุงสายตา ช่วยระบบไหลเวียนโลหิต ป้องการเกิดโรคโลหิตจาง ป้องกันการขาดไอโอดีน เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ฯลฯ

ผู้เขียนชอบกินหอยนางรมเผาใส่น้ำจิ้มซีฟู้ด การทำหอยนางรมเผาก็ไม่ยุ่งยาก เตรียมหอยนางรมตัวใหญ่ๆ พร้อมน้ำจิ้มซีฟู้ด ล้างหอยนางรมให้สะอาด น้ำจิ้มซีฟู้ดที่ซื้อมาก็เติมน้ำปลา มะนาว น้ำตาล อีกสักนิดเพื่อความแซ่บ ใช้เตาถ่านในการเผา ใช้ไฟกลางๆ วางตะแกรงลง นำหอยนางรมมาเรียงเต็มตะแกรงระหว่างเผา หอยนางรมจะเริ่มอ้าฝาออก ตักน้ำจิ้มซีฟู้ดใส่ลงไปในฝาหอยที่อ้าออก ตัวละครึ่งช้อน เผาต่ออีกนิดก็พร้อมเสิร์ฟ เมนูนี้บอกเลยว่าอร่อยมากๆ

หอยแมลงภู่ อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก และสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย อาทิ โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม สังกะสี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 วิตามินบี 9 วิตามินบี 12 วิตามินอี ไอโอดีน โอเมกา 3 สารต้านอนุมูลอิสระ ฯลฯ

กินหอยแมลงภู่ช่วยป้องกันการเกิดโรคโลหิตจาง โรคเหน็บชา ชาตามนิ้วมือนิ้วเท้า ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ทำให้ร่างกายไม่เกิดอาการอ่อนเพลีย รักษาอาการเครียด บรรเทาอาการข้ออักเสบ บำรุงกระดูก เล็บ ผม ฟัน ให้แข็งแรง ป้องกันการขาดไอโอดีน เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง ฯลฯ 

เมนูอร่อยจากหอยแมลงภู่ที่ผู้เขียนทำกินประจำ คือ หอยแมลงภู่คั่วเกลือ เมนูนี้ทำง่าย ไม่ใช้เครื่องปรุงอะไรมากมาย มีแค่หอยแมลงภู่กับเกลือ นำหอยแมลงภู่มาล้างให้สะอาด ตั้งกระทะใช้ไฟกลาง นำหอยแมลงภู่ใส่ลงไปในกระทะ ไม่ต้องใช้น้ำมัน หอยแมลงภู่ 1 กิโลกรัม ผู้เขียนจะใส่เกลือประมาณ 1 ช้อนครึ่ง คั่วไปเรื่อยๆ จนหอยสุก ไม่ต้องปรุงอะไรมาก เนื้อหอยแมลงภู่จะมีรสชาติหวานอยู่แล้วบวกกับเกลือที่ใส่ลงไปตอนคั่ว ทำให้หอยแมลงภู่คั่วมีรสชาติอร่อยพอดี กับอีกเมนูที่ทำง่ายๆ แต่อร่อยไม่แพ้กันเลย คือ หอยแมลงภู่นึ่งสมุนไพร นำหอยแมลงภู่มาล้างให้สะอาด ใส่ลงในหวดที่ใช้นึ่งข้าว นำตะไคร้ ใบมะกรูด โหระพา กะเพรา วางปิดด้านบน จากนั้นก็นำไปตั้งเตานึ่งได้เลย ไม่นานกลิ่นหอมจากสมุนไพรจะโชยมา นึ่งประมาณ 10 - 15 นาที หอยแมลงภู่ก็สุกแล้ว เตรียมน้ำจิ้มรสอร่อยไว้รอได้เลยค่ะ

ใครที่มีปัญหาขาดธาตุเหล็ก ต้องการเสริมธาตุเหล็กเข้าสู่ร่างกาย อย่าลืมเลือกหอยแครง หอยนางรม และหอยแมลงภู่ มาทำอาหารเมนูอร่อยๆ กินเพิ่มธาตุเหล็กกัน ข้อสำคัญหอยทะเลทั้ง 3 ชนิด ให้ธาตุเหล็กที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ทันที ท้ายนี้อย่าลืมกินในปริมาณที่พอดีจึงจะมีประโยชน์ต่อร่างกายนะคะ

เครดิต

  • ขอบคุณข้อมูลจาก บทความฟื้นวิชา บทบาทของธาตุเหล็กต่อปัญหาโลหิตจางในประเทศกำลังพัฒนา พัตธนี วินิจจะกูล 
  • ขอบคุณข้อมูลจาก ปริมาณธาตุเหล็กที่ดูดซึมได้จากอาหารมื้อเช้า นภมน ศรีตงกุล, มลุลี ตัณฑวิรุฬห์, รุจิรา โชคชัย และ สุนันทา เสียงแจ้ว
  • ขอบคุณข้อมูลจาก โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

ขอบคุณภาพประกอบจาก pixabay

  • ภาพปกที่ 1 Engin_Akyurt / ภาพปกที่ 2 RitaE / ภาพปกที่ 3 jsbaw7160
  • ภาพประกอบที่ 1 allybally4b / ภาพประกอบที่ 2 falco / ภาพประกอบที่ 3 joakant / ภาพประกอบที่ 4 photo-graphe / ภาพประกอบที่ 5 sohyae0  / ภาพประกอบที่ 6 ReinhardThrainer

ชอบบทความนี้หรือไม่? รับทราบข้อมูลโดย เข้าร่วมรับจดหมายข่าว!

ความเห็น

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนเพื่อแสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับผู้เขียน

ชอบปลูกผัก ปลูกสมุนไพร เลี้ยงปลาสวยงาม เลี้ยงหอยพื้นบ้าน

บทความล่าสุด
เม.ย. 28, 2023, 2:40 หลังเที่ยง Sugarmommy
เม.ย. 28, 2023, 2:37 หลังเที่ยง เบญจพิธพร
เม.ย. 27, 2023, 12:49 หลังเที่ยง ศลิล ตันวิสุทธิ์