อักษรจุฬาฯ เรียนยากไหม เรียนวิชาอะไรบ้าง

อักษรจุฬาฯ ถือได้ว่าเป็นคณะในฝันของหลาย ๆ คน คนอยากเข้ากันเยอะเพราะทำอาชีพได้หลากหลาย วิชาเรียนก็ดูน่าสนุก เพราะจะได้เรียนพวกภาษา งานวรรณกรรม แต่ว่าก็เข้ายากเพราะคะแนนสูงเป็นที่ 1 ของสายศิลป์อยู่ตลอด วันนี้เราจะมารีวิววิชาที่อักษรจุฬาฯ กันแบบคร่าว ๆ

เทอมแรกที่เข้ามาเรียนเราจะต้องตกใจกับกองหนังสือที่ต้องไปซื้อ มันเยอะมากทั้งหนาและมีหนังสือทุกวิชา แต่ละวิชาก็ต้องอ่านหลายเล่ม บางทีหัวข้อละเล่ม อ่านกันไม่หวาดไม่ไหวยิ่งกว่ากองดองงานสัปดาห์หนังสือ แต่มันมีวิธีเรียน ไม่ต้องกลัว

ถ้าใครโชคดีได้หนังสือจากพี่รหัสก็แทบไม่ต้องจด เพราะพี่รหัสเรียนเก่งขีดเส้นเน้นจุดสำคัญไว้หมดแล้ว และจดพวกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ตอนแรกที่เลคเชอร์ไม่ทัน ก็ศึกษาวิธีการจับประเด็นของพี่รหัส และก็หัดจดเองบ้าง แต่ถึงจะมีหนังสือ ก็ควรหัดจดตามอาจารย์ จดเองเข้าใจกว่า จดไว้ทบทวน

หมวดอารยธรรมหรือประวัติศาสตร์

วิชาแรกที่เจอก็คือ วิชาอารยธรรมตะวันออก จริง ๆ วิชานี้ง่ายนะ เพราะมันท่องจำ ไม่วิเคราะห์อะไรมากมาย แต่เนื้อหามันต่างจากมัธยมเยอะเลยล่ะ บวกกับเรายังเขียนตอบอัตนัยไม่เก่งด้วย เลยทำให้ทำข้อสอบได้ไม่ค่อยดี เสียดายมาก ๆ อารยธรรมตะวันออกจะเรียนเกี่ยวกับอารยธรรมจีน ญี่ปุ่น อินเดีย คนที่ได้เปรียบคือคนที่เรียนเอกจีนกับเอกญี่ปุ่น เพราะเขาจะคุ้นกับวิธีคิดแบบตะวันออก และรู้ประวัติศาสตร์มาก่อน อาจารย์ไม่ดุ ก็จะเน้นเล่าเรื่องให้ฟัง ง่วงก็หยิบลูกอมมากินได้

อารยธรรมตะวันตกจะยากกว่า แต่เรากลับชอบกว่า เพราะตอนม.ปลายเราเรียนประวัติศาสตร์ตะวันตกมาเยอะ พวกฟิวดัลยุคกลางไรแบบนี้ วิชานี้ห้ามจำมาอ้วกใส่ข้อสอบ ต้องวิเคราะห์ แสดงความคิดเห็นเป็น อาจารย์สอนง่วงทุกคน

อารยธรรมไทยจะเรียนคล้าย ๆ ประวัติศาสตร์ชาติไทย+โบราณคดี ต้องจำสถูป เจดีย์ให้ได้ มีไปทัศนศึกษา 4 ครั้ง ต้องไปอย่างน้อย 1 ครั้ง เพราะมีข้อสอบให้ตอบเกี่ยวกับทัศนศึกษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นคำถามปลายเปิด เราไปอยุธยาเพราะใกล้ดี มีได้ไปอ่างทองหรือลพบุรีเป็นของแถม ไปเช้ากลับมืด แต่เพื่อน ๆ บอกว่าไปสุโขทัยสนุก เพราะได้ไปนอนโรงแรม ได้ไปปั่นจักรยาน เราว่าข้อสอบไม่ยากมากนะ

หมวดวิชาภาษาอังกฤษ

ต่อมาเป็นวิชาภาษาอังกฤษ 1 เป็นวิชาที่ร้องไห้กลางห้อง เพราะเราเก่งอังกฤษมาตลอด ไม่เคยคิดว่าจะสอบรีดดิ้งได้ 10/30 หรือเขียนพารากราฟได้ 3/20 คืออาจารย์ก็บอกว่ามันมีเกณฑ์อยู่ แล้วเราทำไม่ได้ตาม criteria ที่เขาตั้ง และมีการเทียบกับเพื่อนด้วย เพราะพื้นฐานภาษาอังกฤษของเพื่อนแน่นจริง เราต้องสปีดอัพ คือเรียนได้แหละ เรียนเพื่อพัฒนา มันมีช่องว่างให้พัฒนาอีกเยอะ เราได้ภาษาอังกฤษซีทุกตัว แต่ก็ยังเลือกวิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาโท เพราะเชื่อว่าถ้าไม่เรียนแล้วจบไปด้วยระดับภาษาอังกฤษแย่ ๆ แบบนี้ตายค่ะ สอบเข้าทำงานทุกที่เอาภาษาอังกฤษหมดถึงจะได้ใช้หรือไม่ได้ใช้ ก็สู้กัดฟันเรียนไป

วิชาภาษาอังกฤษ 2 แกรมม่ายาก การตรวจพารากราฟก็จะเข้มขึ้น หนังสืออ่านนอกเวลาก็จะอ่านยากมากขึ้น มีภาษาเยอรมันปนมาอีก อ่านไม่จบต้องไปให้เพื่อนติว เทอมสองจะมีให้พรีเซนต์มากขึ้น แต่ยังทำเป็นกลุ่ม มีแสดงละคร อัดเป็นเทรเลอร์หนังสั้น ๆ

วิชาการแปลเบื้องต้นที่หลายคนกลัวมาก แต่สำหรับเราไม่ยาก เพราะเราก็ชอบดูซับหนัง และแปลนู่นนี่อยู่แล้ว วิชานี้หลักของมันคือไม่รู้ศัพท์ก็เดาบริบท ความยากคือการใช้คำและการแปลออกมาให้สละสลวย ไม่ติดสำนวนฝรั่ง และไม่แปลตกหล่นจากภาษาต้นทางไปยังภาษาปลายทาง

หมวดวิชาปรัชญา

วิชาการใช้เหตุผลที่เป็นของปรัชญา คนอื่นบ่นยาก เรากลับโอเค มันเหมือนเรียนเลขง่าย เบา ๆ อาจารย์ก็คุยสนุก ชวนถกเถียงประเด็นต่าง ๆ ทำให้อยากเรียนปรัชญาเบื้องต้นในเทอมต่อไป แต่พอเรียนจริงก็เกลียดเพราะไม่ได้ชอบจริง เพื่อนบอกว่าต้องรู้ไบเบิ้ลถึงจะอิน เพราะปรัชญาอิงกับศาสนาคริสต์ บางทีอาจารย์ก็พูดวน ปนกันหมด เราปรับตัวไม่ทันทั้งทฤษฎีวิวัฒนาการ การฟื้นฟูศิลปวิทยาการ

หมวดวิชาศิลปการละคร

มาถึงวิชาที่เราชอบกันบ้างดีกว่า เราชอบวิชาปริทัศน์ศิลปการละคร มันสอนให้คิดจากการดูหนัง ละครเวที เราก็ชอบเพราะได้เปิดโลกว่าคนทำหนังเค้ามีปรัชญาบางอย่าง มีสิ่งที่จะบอกกับคนดู ไม่ได้สร้างเล่นเพื่อความบันเทิงอย่างเดียว บันเทิงแล้วต้องได้อะไรติดมือกลับบ้าน จะเน้นศิลปะการละครยุโรป เพราะเก่าแก่ เป็นต้นแบบ หนังที่ฉายจะเป็นหนังแปลกแนวศูนย์ศิลปวัฒนธรรม หนังชาติแปลก ๆ หาดูได้ยาก ไม่ค่อยเอาหนังแมสหรือหนังฮอลลีวู้ดมาให้ดู ยกเว้น Titanic ที่บังเอิญแมสด้วยดีด้วย เลยข้ามความไม่อยากเอาหนังแมสมาฉายให้นักเรียนดูมาได้

หมวดวิชาภาษาไทย

วิชาการใช้ภาษาไทยอันนี้ตอนแรกไม่ชอบเพราะรู้สึกว่าวิธีสอนโบราณ ให้ออกมาพูดหน้าชั้น นำเสนอหัวข้อเกี่ยวกับตัวเอง หรือหัวข้อที่จับสลากได้ แล้วก็เน้นอ่านบทความ เรื่องสั้น นิยายที่ตัดตอนมา แต่พอเรียนไปได้สักครึ่งเทอม รู้สึกว่าตัวเองมีพัฒนาการการใช้ภาษาแบบก้าวกระโดด ตอนสอบอ่านบทความในหนังสือพิมพ์ นิตยสารรายสัปดาห์ ก็เริ่มอ่านคิดวิเคราะห์บทความได้แตกมากขึ้น เราก็ได้ทักษะนี้มาหากินเขียนบทความด้วย

วิชาวรรณคดีไทยอันนี้จะยากนิดนึงสำหรับคนที่ไม่ชอบภาษาเก่า เราเรียนได้เพราะที่เตรียมอุดมโดนบังคับให้เรียนวรรณคดีมรดก อาจารย์เค้ามีหนังสือขายเกี่ยวกับวิธีวิเคราะห์วรรณคดีเรื่องนั้น ๆ คืออ่านครบจบเลย ไม่ต้องเป็นห่วงเลย อ่านแล้วได้วิธีคิดมาเรียนเอกไทยด้วย แต่การที่จะคิดแล้วเข้าใจง่ายแบบนั้น จริง ๆ มันไม่ง่ายสำหรับอาจารย์ในการหาเครื่องมือในการหาคำตอบ ใครอยากรู้เพิ่มว่าทำไงต้องไปอ่านวิทยานิพนธ์ ตำราอันง่ายที่สุด ลัดสุดในการเข้าใจ แบบไม่ต้องรู้รายละเอียดอะไรเยอะ

วิชาการใช้ภาษาไทยเพื่อวิชาชีพดูเหมือนยาก เพราะมันจะมีแบบฟอร์มเฉพาะทางการอย่างรายงานการประชุม การเขียนบันทึกข้อความ การเขียนเรียงความ การเขียนสรุปความ และการเขียนแสดงความคิดเห็นหรืออภิปราย มีงานใหญ่ปลายเทอมให้ไปสัมภาษณ์อาชีพมาเขียนเป็นสารคดี งานนี่ยากมาก ได้แค่ B เอง แต่ก็รู้สึกว่าเป็นวิชาบังคับปีสามที่เราเรียนได้ดีวิชาหนึ่งเลย

หมวดวิชาภาษาศาสตร์

วิชาภาษาทัศนาเป็นวิชาภาษาศาสตร์ที่ค่อนข้างง่าย เพราะอาจารย์ใจดี แต่ของจริงคงยากในการไปวิเคราะห์ภาษาเฉพาะถิ่น แต่เพราะเป็นวิชาบังคับ อาจารย์ก็จะสอนให้รู้พื้นฐานการเรียนภาษาของมนุษย์แค่นั้น

หมวดวิชาบรรณารักษศาสตร์

วิชาที่เราไม่ชอบแต่ต้องเรียนคือวิชาการค้นคว้าและเขียนรายงาน แต่มันจำเป็นเพราะเราต้องเขียนอ้างอิงและบรรณานุกรมให้ถูกตามหลัก เราเลือกทำรายงานหัวข้ออะไรก็ได้ แค่อย่าก็อปจากเน็ตมาส่ง เราทำรายงานเรื่องการลดความอ้วน เพราะตอนนั้นเรากำลังลดความอ้วน แต่มาคิดดูแล้วน่าจะทำหัวข้อสายศิลป์ดีกว่า เพราะอาจารย์ก็อยากให้ทำลึกมาก ไม่ใช่รายงานมัธยม ถึงจะอ้างอิงเอกสารคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัย ประชากรศาสตร์ แต่มันไม่มีการวิเคราะห์ หรือเป็นงานใหม่ที่ให้อะไรกับสังคม เพื่อนที่ทำวิเคราะห์เพลง วิเคราะห์นิยายได้ความเป็นออริจินัลมากกว่า น่าสนใจกว่าด้วย

วิชาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อันนี้เรียนประวัติศาสตร์คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ไม่มีปฏิบัติ มีแต่ข้อสอบช้อยส์ เป็นวิชาง่าย ๆ คนเลยโดดเยอะ เพราะอ่านเองได้ แต่ฟังอาจารย์ก็เหมือนทวนไปด้วยกัน

หมวดวิชาภูมิศาสตร์

ถ้าเป็นคนชอบแผนที่โลกหรือชอบท่องเที่ยวก็น่าจะชอบ อาจารย์ไปมาทุกทวีปแล้ว อาจารย์ก็จะไปที่สำคัญ ๆ อย่างพีรามิดกีซ่า ทะเลทรายโกบี จิ่วไจ้โกว ทัชมาฮาล แต่ประเทศที่อาจารย์ชอบสุดคือตุรกีเพราะเป็นชายแดนเอเชียกับยุโรป เป็น east meets west  ผสมผสานวัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตก เราก็แค่ต้องจำว่าที่ไหนอยู่ประเทศไหน เกิดจากการกระทำของน้ำ ลม ดิน ธรรมชาติหรือมนุษย์สร้าง นอกจากไปทั่วโลกก็ยังต้องรู้จักสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศตัวเองว่า 77 จังหวัดเนี่ยมีที่ไหนเป็นดาวเด่นจังหวัดอีก ถือว่าไม่ยากไม่ง่าย ข้อสอบถามยิบย่อยมาก เหมาะกับคนชอบความรู้รอบตัว ดูสารคดีบ่อย ๆ

หมวดวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ

วรรณคดีทัศนาเป็นวิชาที่เหมือนสนุก แต่ยากและจริงจังมาก ทฤษฎีวรรณคดีมันไม่เหมือนที่เรียนวรรณคดีไทย มีทั้งวรรณคดีกับความพิการ วรรณคดีกับศาสนา วรรณคดีกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทฤษฎีเฟมินิสม์ สัจนิยมมหัศจรรย์ ทฤษฎีวรรณกรรมเด็กที่ไม่เด็กแบบชื่อ ต้องไม่คิดถึงเกรด คิดถึงความรู้ก็พอ

วิชาบังคับคือเรียนเพื่อให้เรามีความรู้พื้นฐานอักษรศาสตร์ และให้เรารู้ว่าเรามีความชอบ ความถนัดวิชาไหน จะได้ตัดสินใจเลือกเอกได้ถูกต้อง

ภาพปกอาคารมหาจักรีสิรินธรถ่ายโดยผู้เขียน

ชอบบทความนี้หรือไม่? รับทราบข้อมูลโดย เข้าร่วมรับจดหมายข่าว!

ความเห็น

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนเพื่อแสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับผู้เขียน
บทความล่าสุด
เม.ย. 28, 2023, 2:40 หลังเที่ยง Sugarmommy
เม.ย. 28, 2023, 2:37 หลังเที่ยง เบญจพิธพร
เม.ย. 27, 2023, 12:49 หลังเที่ยง ศลิล ตันวิสุทธิ์