ครอบครัว...ติดดาว

บทความ ATC 7  ครอบครัว...ติดดาว

                                                                                                                        โดย  นายณัฏ ( Ninenatt )

                 คำว่า “ครอบครัว” นั้น มีความหมายว่า บุคคลที่มีตั้งแต่คนสองคนขึ้นไปที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภรรยา หรือมีความผูกพันทางสายโลหิต หรือทางกฎหมาย หรือเกี่ยวดองเป็นเครือญาติ ซึ่งสมาชิกในครอบครัวต่างมีบทบาท หน้าที่ต่อกัน และมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน  ครอบครัวในปัจจุบันอาจจำแนกได้หลายประเภท เช่น ครอบครัวเดี่ยว(มีพ่อแม่ลูก) ครอบครัวขยาย(มีปู่ย่าตายาย หรือญาติคนอื่น ๆ อยู่ร่วมด้วย) และก็ยังมีครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวขยายข้ามรุ่น ครอบครัวที่เป็นญาติกัน และอื่น ๆ อีกหลายประเภท  ซึ่งแต่ละครอบครัวก็มีความเป็นอยู่ มีความสุข มีความทุกข์ ต่าง ๆ กันไป  บทความนี้ ผมขอหยิบยกเอาตัวอย่างของ “ครอบครัวเดี่ยว” ที่มีเพียงพ่อแม่และลูก (หรืออาจมีเพียงสามีและภรรยา) ที่อยู่ร่วมกัน จะมีสุข มีทุกข์ มากน้อยเพียงใด เราสามารถจัดเข้ากลุ่มได้ โดยให้ “ดาว” เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงปริมาณความสุขที่เกิดขึ้น  น้อยสุด  1 ดาว และมากสุด 5 ดาว  จึงเป็นที่มาของคำว่า “ครอบครัว...ติดดาว”

                 ครอบครัว 1 ดาว  หมายถึงครอบครัวที่อยู่ร่วมกันในสภาพของการ “พึ่งพิง” จะพบว่ามีอยู่จำนวนไม่น้อยในสังคมไทย คนหนึ่งมีฐานะร่ำรวยกับคนหนึ่งมีฐานะยากจน หรือคนหนึ่งมีการศึกษาสูงกับคนหนึ่งมีการศึกษาต่ำ หรือคนหนึ่งมีหน้าที่การงานดีกับคนหนึ่งการงานไม่ดี/ไม่มั่นคง/ไม่มีงานทำ  หรือคนหนึ่งมีรายได้ต่อเดือนสูงกับคนหนึ่งที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำ/ไม่มีรายได้  หรือคนหนึ่งมีรูปร่างหน้าตาดีกับคนหนึ่งหน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่  จะด้วยสาเหตุใด ๆ ก็ตามที่ทำให้ทั้งสองคนต้องมาอยู่ร่วมกัน เป็นความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจน  ครอบครัวในกลุ่มนี้ไม่ว่าจะเป็นสามีหรือภรรยา โดยผู้ที่ด้อยกว่าจำเป็นต้องพึ่งพิงผู้ที่ดีกว่าอยู่ตลอดเวลา  อาจต้องอดทน ต้องยอม ต้องทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ครอบครัวดำรงอยู่ได้ ไม่มีโอกาสเป็นตัวของตัวเอง  เชื่อว่าอาจไม่มีความสุขนัก  หากถูกฝ่ายที่ดีกว่าหรือญาติ ๆ ดูถูก เหยียดหยาม ข่มเหง รังแก ทั้งร่างกายและจิตใจ มีผลทำให้เกิดปัญหาภายในครอบครัวอยู่เนือง ๆ ลักษณะครอบครัวแบบนี้ขอยกให้เป็นครอบครัวเพียงหนึ่งดาว

                ครอบครัว 2 ดาว หมายถึงครอบครัวที่อยู่ร่วมกันในสภาพของการ “พึ่งพา” น่าจะเป็นครอบครัวที่พบมากที่สุดในสังคมไทย เป็นครอบครัวที่สามีและภรรยาอยู่ด้วยกัน กลุ่มนี้ทั้งสองคนต่างก็มีหน้าที่การงานของตนที่ชัดเจน มีความมั่นคง มีรายได้ที่ใกล้เคียงกัน สังคมให้การยอมรับที่ใกล้เคียงกัน  ทั้งสองคนต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนไป ตามวัฒนธรรมหรือประเพณีที่สืบทอดกันมา เช่น สามีต้องมีหน้าที่ให้ความปลอดภัย ให้ความอบอุ่น ทำงานที่ต้องใช้แรงกาย ใช้กำลัง ทำหน้าที่ดูแลสวน ดูแลต้นไม้ ขับรถยนต์ ดูแลรถยนต์ทั้งของตนเองและภรรยา  ส่วนภรรยาก็ต้องทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน แม่เรือน ต้องทำความสะอาดบ้าน ต้องเลี้ยงลูก ต้องทำกับข้าว ดูแลเรื่องเสื้อผ้า การกิน การหลับ การนอน  ส่วนใหญ่ทั้งสองคนมักจะมีข้อตกลงร่วมกัน  เอาเป็นว่าทั้งสองคนจะอยู่ด้วยกันได้ ต้องอาศัยคำว่าพึ่งพาซึ่งกันและกัน ขาดคนใดคนหนึ่งไม่ได้ ซึ่งเชื่อได้ว่าครอบครัวก็น่าจะมีความสุขในระดับหนึ่ง  แต่อาจขาดในเรื่องของความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน เรื่องของจิตใจ ยังขาดซึ่งความเอื้ออาทร ลักษณะครอบครัวแบบนี้ขอยกให้เป็นครอบครัวเพียงสองดาว

                   ครอบครัว 3 ดาว หมายถึงครอบครัวที่อยู่ร่วมกันโดยยึดหลักของ “ความถูกต้อง” อาจจะมีลักษณะคล้ายกับครอบครัว “สองดาว” ในส่วนที่อาจจะต้องมีการพึ่งพาซึ่งกันและกัน  แต่จะเพิ่มในส่วนของคำว่า “ถูกต้อง” และ “ไม่ถูกต้อง” เข้ามาด้วย สิ่งไหนถูกก็ว่าถูก สิ่งไหนผิดก็ว่าผิด มีความชัดเจนในตัวของมันเอง ทั้งสองคนต้องยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น หากคนหนึ่งคนใดทำผิดก็จะต้องยอมรับความผิด ไม่มีข้อแม้ ไม่มีข้อยกเว้น  เช่น ภรรยาไม่ทำกับข้าวถือว่าเป็นความผิด สามีดื่มเหล้าเมายาไม่ทำหน้าที่ของตนก็ต้องยอมรับผิด ดูแล้วถ้าทั้งสองคนยอมรับในสิ่งที่ตนเองทำ  ก็เชื่อได้ว่าครอบครัวก็น่าจะมีความสุขมากขึ้นอีกระดับหนึ่ง  แต่ก็อาจยังขาดในเรื่องของความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน เรื่องของจิตใจ ยังขาดซึ่งความเอื้ออาทร ลักษณะครอบครัวแบบนี้ขอยกให้เป็นครอบครัวสามดาว

                   ครอบครัว 4 ดาว หมายถึงครอบครัวที่อยู่ร่วมกันโดยยึดหลักของการมี “เหตุและผล” อาจจะมีลักษณะของครอบครัว “สองดาว” และ “สามดาว” เป็นพื้นฐานมาก่อน ในส่วนที่อาจจะต้องมีการพึ่งพาซึ่งกันและกัน และมีการพูคุย มีข้อตกลงที่ชัดเจน  แต่จะเพิ่มในส่วนของคำว่า “เหตุและผล” เพิ่มเข้ามา  จริงอยู่บางครั้ง บางเรื่อง ภรรยาทำไม่ถูกต้อง แต่หากได้ฟังเหตุและผลของคุณเธอแล้ว ฟังขึ้น ก็ถือว่าไม่ผิดได้  สามีก็อาจรับได้ หรือสามีดื่มเหล้าเมายาบ่อย ๆ มีเหตุผลเนื่องด้วยอาชีพที่ทำอยู่ต้องมีเพื่อนฝูงจำนวนมาก มีลูกน้องต้องดูแล มีเจ้านายหรือหัวหน้าที่จำเป็นต้องดูแล เป็นผลถึงหน้าที่การงานที่สูงขึ้น เหตุและผลฟังขึ้น ก็จะถือว่าไม่ผิด ภรรยาก็รับได้  ก็เชื่อว่าครอบครัวจะมีความสุข ทั้งสามีและภรรยาเมื่อพบปัญหา ก็หันหน้าเข้าหากัน ใช้เหตุและผลคุยกัน ปัญหาใหญ่ ๆ ก็จะเล็กลง ปัญหาเล็ก ๆ ก็จะหมดไป หลังจากนั้นก็เพิ่มเติมในส่วนของความอ่อนโยน การเอื้ออาทร การห่วงใย การเข้าใจ และการใส่ใจซึ่งกันและกัน ลักษณะครอบครัวแบบนี้ขอยกให้เป็นครอบครัวที่ดี เป็นแบบอย่าง ให้มากถึงสี่ดาว

                   ครอบครัว 5 ดาว ขอยกให้เป็นครอบครัวที่ดีที่สุด หมายถึงครอบครัวที่อยู่ร่วมกันโดยใช้ “ใจต่อใจ” ถึงแม้ครอบครัวอาจจะเริ่มต้นอย่างไรไม่สำคัญ เมื่อมาอยู่ร่วมกันแล้ว ให้ใช้ “ใจ” เป็นหลักในการรักษาไว้ซึ่งครอบครัว การมีใจให้กันและกันหรือที่เรียกว่า “ความรัก” นั่นเอง  เมื่อมีความรักที่ยิ่งใหญ่แล้ว สิ่งต่าง ๆ ก็จะตามมา ความใคร่ ความห่วงหาอาทร ความถูกต้อง การมีเหตุและผล การช่วยเหลือ การพึ่งพาซึ่งกันและกัน ก็จะตามมาหมด  บางครั้งอาจไม่ถูกต้องแต่เมื่อใช้ใจตัดสินก็อาจถูกต้องได้  บางครั้งอาจเป็นความผิดแต่เมื่อใช้ใจพิจารณาก็อาจไม่ผิดก็เป็นได้ เช่น สามีเป็นคนชอบรถยนต์ รักรถมาก ทะนุถนอมดูแลเป็นอย่างดี สะสมรถเอาไว้มากมายหลาย ๆ สิบคัน ซึ่งบางคันไม่ได้ใช้เลย ฟังดูแล้วไม่น่าจะถูกต้อง เหตุผลฟังไม่ขึ้นเลย แต่หากมีแล้วไม่เกิดปัญหาเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ มีเงินซื้อ ด้วยความรักที่มีต่อสามีภรรยาก็อาจจะเข้าใจ เป็นความสุขของสามี ก็ยอม ๆ ไป ไม่ใช่ปัญหา  หรือภรรยาชอบมากเรื่องซื้อกระเป๋า ซื้อรองเท้า ชอบสะสม เป็นสิบเป็นร้อยคู่ ซึ่งก็ใช้ไม่หมด  ด้วยความรักภรรยา เป็นความสุขของผู้หญิง สามีก็เข้าใจ ก็ยินยอม ตามใจเธอเลย มีเงินซื้อ ๆ ไปเลย  บ่งบอกถึงความเข้าใจ  ปัญหาที่คิดว่าจะเกิดก็ไม่เกิดขึ้น หนำซ้ำจะทำให้มีความรักกันมากขึ้นอีกด้วย ความสุขก็จะตามมา ลักษณะครอบครัวแบบนี้ขอยกให้เป็นครอบครัวที่ดีที่สุด เป็นครอบครัวห้าดาว

                       คำว่า “ความสุข” โดยเฉพาะความสุขของครอบครัว ในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถสร้างมันขึ้นมาได้ ไม่จำเป็นต้องมีเงิน มีทอง หรือมีฐานะร่ำรวย  เพียงแต่ขอให้ใช้ “ใจ” เป็นเครื่องมือ เป็นหลัก ในการสร้างมันขึ้นมา  แม้จะเริ่มต้นเพียงหนึ่งดาวก็ตาม

ขอขอบคุณ  ภาพจาก Chanthasiri Roung

ชอบบทความนี้หรือไม่? รับทราบข้อมูลโดย เข้าร่วมรับจดหมายข่าว!

ความเห็น
พุกคุ่ย - ต.ค. 27, 2021, 8:33 ก่อนเที่ยง - ตอบกลับ

ขอบคุณค่ะ

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนเพื่อแสดงความคิดเห็น

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนเพื่อแสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับผู้เขียน
บทความล่าสุด
เม.ย. 28, 2023, 2:40 หลังเที่ยง Sugarmommy
เม.ย. 28, 2023, 2:37 หลังเที่ยง เบญจพิธพร
เม.ย. 27, 2023, 12:49 หลังเที่ยง ศลิล ตันวิสุทธิ์