ท้าวบาเจียง นางมะโรง: เหตุการณ์ความรักที่ไม่สมหวังของนิทานลาว แขวงจำปาสัก สปป.ลาว

ท้าวบาเจียง นางมะโรง: เหตุการณ์ความรักที่ไม่สมหวังของนิทานลาว แขวงจำปาสัก สปป.ลาว 

          ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการความร่วมมือทางวิชาการวัฒนธรรมลาว-ไทย “มรดกล้านช้าง”ครั้งที่ 6 และได้ลงพื้นที่ ระหว่างวันที่ 3-9 สิงหาคม 2562 จังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสาน รวมไปถึงแขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผู้เขียนได้เห็นวรรณกรรมนิทานท้องถิ่นแขวงจำปาสัก เรื่องท้าวบาเจียง นางมะโรง กับมัคคุเทศก์ (ไกด์นำเที่ยว) ผู้เขียนจึงสนใจและได้ใช้เรื่องราวในวรรณกรรมเป็นฐานเพื่อเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ ที่ปรากฏชื่อในวรรณกรรมเรื่องท้าวบาเจียง นางมะโรง

          ก่อนอื่นผู้เขียนขอกล่าวถึงความรู้พื้นฐานของความหมายของนิทานพื้นบ้านและแบบแผนเบื้องต้นของนิทานก่อนว่ามีลักษณะอย่างไร  คำว่า นิทานพื้นบ้าน หมายถึง เรื่องเล่าแต่งเป็นภาษาร้อยแก้ว เป็นเรื่องที่อาจเคยเกิดขึ้นหรือไม่เคยเกิดขึ้นก็ได้ (เสาวลักษณ์ อนันตศานต์,2554) เกิดจากจินตนาการของมนุษย์ ส่วนแบบแผนของนิทานพื้นบ้าน คือ สูตรแบบแม่แบบ คล้ายกับสูตรแม่แบบการก่อสร้าง ได้แก่ 1. แบบเรื่อง และอนุภาค  2. เค้าโครงของนิทาน 3. ภาพพจน์ 4. ลำดับของถ้อยคำซึ่งเป็นสูตรหรือกฎเกณฑ์ และ 5.การซ้ำ แบบแผนของนิทานพื้นบ้านที่กล่าวมานี้ ทำให้นิทานมีสัดส่วนเรื่องราวที่ดี มีเหตุมีผลอย่างสมบูรณ์แบบ (เสาวลักษณ์ อนันตศานต์, 2548)

ความสำคัญของ วรรณกรรมนิทานท้องถิ่นแขวงจำปาสัก เรื่องท้าวบาเจียง นางมะโรง

              ชื่อนครจำปาศักดิ์ได้เรียกขานกันในอดีต หรือแขวงจำปาสักได้เรียกขานกันในปัจจุบัน ล้วนมีตำนานเล่าขานกันมาเช่นเดียวกันแขวงอื่น ๆ ในประเทศลาว นครจำปาศักดิ์เริ่มจากการอพยพของชนชาติลาวกลุ่มหนึ่งจากแคว้นศรีสัตนาคนหุตแล้วมาตั้งถิ่นฐานที่แขวงนครจำบากนาคบุรีศรี แล้วเปลี่ยนนามใหม่เรียกว่า นครจำปาศักดิ์นัคบุรีศรี ปกครองโดยเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูร (นิวัฒน์ พ.ศรีสุวรนันท์,  2543) และในปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่ออีกว่า แขวงจำปาสัก ซึ่งเป็นแขวงหนึ่งทางตอนใต้ของประเทศลาว

          สิ่งที่น่าอัศจรรย์ไปยิ่งกว่านั้น คือ แขวงจำปาสักมีผู้มีความรู้ความสามารถอาจเป็นถึงขั้นนักปราชญ์ของหมู่บ้านหรือเจ้านายในนครจำปาสักก็เป็นได้ ซึ่งได้ยิบยกนำเอาสถานที่ต่างๆ ที่แขวงจำปาสักมาผูกเป็นเรื่องราวขึ้น ชื่อว่าท้าวบาเจียงกับนางมะโรง ได้แก่ เมืองโพนทอง (เมืองเศรษฐาปุระ) เขตเมืองกาง (นครกาละจำบากนาคะบรุลีสี) ภูงอย (สถานที่ที่อินทะปะถาซุ่มแอบมองนางมะโรง) น้ำตกผาส้วม (สถานที่บาเจียงสร้างห้องหอไว้บริเวณน้ำตก) เมืองปากเซ (คือ เส้นทางที่บาเจียงแห่ขันหมากไปเมืองคันเกิ่ง) ภูบางเจียง (สถานที่ฝั่งศพของบาเจียงที่หันไปเมืองเก้าเกิ่ง)

ภาพที่ 1 แสดงภาพภูบาเจียง เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก 

ภูคอกช้าง (สถานที่บาฮองสั่งเสนาตัดคอช้าง) ภูต้มไก่ (สถานที่บาฮองสั่งให้เสนาเทต้มไก่ทิ้งริมภูเขา) ภูสะเหล้า หรือภูสาเหล้า(ไห้เหล้าที่ทิ้งอยู่ภูเขาบริเวณริมโขง) ภูนางนอน เมืองโพนทอง (สถานที่นางมะโรงมาเฝ้ารองอินทะปะถา) ดอนปะกำ อยู่ระหว่างฝั่งพะพิมพ์และฝั่งบ้านม่วง (สถานที่นางมะโรงประสูตรบุตรกลางแม่น้ำ) ดอนแดง (สถานที่ประสูติบุตรแล้วเลือดไหลไปติดริมฝั่งแม่น้ำ) ดอนเปลือย เส้นทางที่นางมะโรงลอยน้ำผ่านเรียกดอนนางลอย(สถานที่นางมะโรงขี่แพรไม้สามลำไปตามสายน้ำจนเสื้อผ้าขาดหลุดรุ่ย) บ้านห่อข้าว (สถานที่อินทะปะมาขอข้าวชาวบ้านกิน) ดอนนางกวัด (สถานที่นางมะโรงเสียใจอย่างน่าเวทนาสงสาร) บ้านม่วง (สถานที่นางมะโรงกินเหมากม่องและจำความได้ว่าประสูตรบุตรสถานที่นี้) ภูมะโรง (สถานที่ฝังศพนางมะโรง)

 ภาพที่ 2 แสดงภาพภูมะโรง หรือภูนางนอน เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก 

ภูจำปาสัก (สถานที่ฝังศพท้าวอินทะปะถา) ภูม่านกั้ง (สถานที่ชาวบ้านสร้างภูกีดกัน นางมะโรงกับท้าวอินทะปะถา) (พูสัง กิ่งลัดตะนา,  2558)

          นอกจากความโดดเด่นทางด้านภูมิศาสตร์แล้ว วรรณกรรมนิทานท้างบาเจียงกับนางมะโรงยังโดดเด่นในเรื่องของนิทานรักสามเส้าอีกด้วย ซึ่งเนื้อหาของวรรณกรรมลักษณะนี้ตรงกับวรรณกรรมท้องถิ่นไทยอีสานคือเรื่อง ท้าวขูลูนางอั้ว ซึ่งเป็นเหตุการณ์รักสามเส้าเช่นกัน จากการลงพื้นที่แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผู้เขียนได้เห็นบริบทพื้นที่ของแขวงจำปาสัก สปป.ลาว ที่ถูกนำมาผู้เรื่องเชื่อมโยงให้เป็นนิทานเรื่อง ท้าวบาเจียง นางมะโรง เล่าสืบต่อกันมา

เรื่องย่อ นิทานท้าวบางเจียง นางมะโรง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว

 ภาพที่ 3 แสดงภาพหนังสือวรรณกรรมลาวท้าวบาเจียง นางมะโรง

ที่มา: พูสัง กิ่งลัดตะนา (2558) ท้าวบาเจียง-นางมะโรง

          ความเป็นมาเริ่มแรกเกิดจากความสัมพันธ์ของสองตระกูลระหว่าง ตระกูลหัวหน้าชนเผ่า และตระกูลเจ้าเมือง เรื่องราวมีอยู่ว่า พระยาโพนทองถูกเสือกัดจนบาดเจ็บ บางฮองซึ่งเป็นชนเผ่ามาพบเข้าจึงได้ใช้ยาสมุนไพรที่ตนหาได้รักษาพระยาโพนทองจนหายบาดเจ็บพระองค์จึงได้ให้คำมั่นสัญญาต่อบางฮองว่า หากทั้งสองมีบุตรชาย หรือหญิง เหมือนกันก็จะทำการผูกเสี่ยว (เพื่อนตาย) ให้ หากมีบุตรต่างเพศก็ให้แต่งงานกัน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นก็ยังจำฝังใจของทั้งสองคนอยู่เสมอมา เมื่อเวลาผ่านไป บางฮองได้บุตรชาย ชื่อ ท้าวบาเจียง ส่วนพระยาโพนทองได้ลูกสาว ชื่อนางมะโรง บางฮองทราบข่าวเรื่องนางมะโรงว่าเป็นธิดาของพระยาโพนทองและคิดว่าคงถึงเวลาแล้วที่จะไปสู่ขอนางมาเป็นคู่ชีวิตของลูกชายตน จึงได้แต่งสินสอดไปขอนางมะโรง  แต่นางมะโรงมีคนรักอยู่แล้วชื่อว่า ท้าวอินทะปะถา หรือท้าวจำปาสัก  นางจึงได้หนีไปกับท้าวอินทะปะถา เมื่อขบวนขันหมากท้าวบาเจียงมาถึงเมืองของนางมะโรงและทราบข่าวการหนีไปของนางมะโรง ทำให้ท้าวบาเจียงฟุ้งซ่านจับดาบแกว่งไปมาพลาดแทงตนเองตาย และถูกนำไปฝังไว้ที่ภูบาเจียง

          ส่วนนางมะโรงได้หนีไปรอท้าวอินทะปะถาที่ภูนางนอน แต่ก็ผิดหวังเพราะบางฮองพ่อของบาเจียงได้ให้หมอผีทำพิธีบังตาไม่ให้นางมะโรงเห็นท้าวอินทะปะถา นางได้แต่คองคอยคนรักจนเสียชีวิตแล้วถูกฝังไว้ที่ภูมะโรง ส่วนท้าวอินทะปะถาทราบข่าวว่านางมะโรงตายแล้วก็ตรอมใจตายเช่นกัน ร่างอันไร้วิญญาณจึงถูกนำไปฝังที่ภูจำปาสัก (พูสัง กิ่งลัดตะนา,  2558)

          เหตุการณ์ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุการณ์รักสามเส้าที่เต็มไปด้วยความผิดหวังระหว่างชาย 2  หญิง 1 ซึ่งเป็นนิทานของแขวงจำปาสักสืบมา

จากเหตุการณ์ความรักที่ไม่สมหวังของนิทานลาว แขวงจำปาสัก พบว่า ตัวเอกในเรื่องมีวิถีชีวิตเป็นไปตามเค้าโครงที่เป็นแบบแผนอย่างเดียวกันมีลักษณะร่วมเหตุการณ์ของตัวละครในนิทาน ได้แก่   1. สองตระกูลผูกมิตรกัน 2. เกิดปมขัดแย้งระหว่างสองครอบครัว 3. ตัวเอกของเรื่องผิดหวังจากความรัก  และ 4. โศกนาฏกรรมรักสามเส้า ดังนั้นจากการศึกษานิทานเรื่อง ท้าวบางเจียง นางมะโรง ของแขวงจำปาสักประเทศลาว จึงพบว่าแก่นเรื่องของนิทาน คือ “ความรักที่ไม่สมหวัง” 

เอกสารอ้างอิง

นิวัฒน์ พ.ศรีสุวรนันท์.  (2543). ไทยลาว-อีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 4. (ม.ป.ท.).

พูสัง กิ่งลัดตะนา. (2558). ท้าวบาเจียง-นางมะโรง. แขวงจำปาสัก. ยูเนสโก้.

เสาวลักษณ์ อนันตศานต์. (2554). ตำนานพื้นบ้าน. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

_________. (2548). ตำนานพื้นบ้าน. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

 

ชอบบทความนี้หรือไม่? รับทราบข้อมูลโดย เข้าร่วมรับจดหมายข่าว!

ความเห็น

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนเพื่อแสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับผู้เขียน
บทความล่าสุด
เม.ย. 28, 2023, 2:40 หลังเที่ยง Sugarmommy
เม.ย. 28, 2023, 2:37 หลังเที่ยง เบญจพิธพร
เม.ย. 27, 2023, 12:49 หลังเที่ยง ศลิล ตันวิสุทธิ์