พยาบาลขอเล่า: ผมไม่มีบ้านให้กลับ

วันนี้เป็นวันธรรมดาทั่ว ๆ ไปวันหนึ่ง พยาบาลได้รับแจ้งว่าจะมีคนไข้เข้านอนในหอผู้ป่วยเพื่อเตรียมเจาะไตวันพรุ่งนี้ แต่มีอาการเจ็บอก คลื่นหัวใจผิดปกติเล็กน้อยแต่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย เจาะเลือดเพื่อดูการทำงานของหัวใจไม่มีอะไรผิดปกติ มีเพียงแค่หัวใจโต

 

เมื่อเจ้าหน้าที่เวรเปลนำคนไข้มาถึงวอร์ด พบว่าเป็นคนไข้เพศชายวัยกลางคนร้องเจ็บที่อกตลอด พาขยับลงเตียงก็มีสีหน้าทุกข์ทรมานมากเนื่องจากเจ็บที่บริเวณเอว

เราเข้าไปซักประวัติและประเมินอาการหลังจากทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง พบว่าคุณลุงมา รพ.ด้วยตนเองเพียงลำพัง ขณะรอตรวจที่ OPD อยู่ ๆ ก็ล้มลงจับที่หน้าอก แล้วถูกนำเข็นส่งห้องฉุกเฉิน

เราซักถามเบอร์ญาติ คุณลุงตอบ

"ผมและญาติทะเลาะกัน ไม่ได้ติดต่อกันแล้ว ตอนนี้ผมอยู่ตัวคนเดียว"

เราฟังแล้วใจหาย ไม่รู้จะถามอย่างไรต่อ ทำได้แค่จดเบอร์โทรศัพท์ของคนไข้ลงไปแล้วถามต่อว่าที่อยู่ปัจจุบันคือที่ไหน

คุณลุงทำสีหน้านิ่งตอบ

"ผมไม่มีบ้านให้กลับหรอก เร่ขายของที่ทำเองไปเรื่อย"

เรารู้สึกจุกในอก ไม่อยากรับรู้ความรู้สึกไม่ดีเลย แต่ถามคุณลุงต่อไปว่าเดินทางมาที่นี่อย่างไร มีเงินติดตัวหรือไม่ คุณลุงตอบน้ำเสียงเรียบเฉย

"ผมมาเอง ขึ้นรถประจำทางมา หมดเงินประมาณ 200 บาท มีเงินติดตัวตอนนี้อยู่ 800 บาท

ผมไม่อยากเป็นภาระใคร ผมมีเงินอยู่ ดูแลตัวเองได้ ตอนนี้เดินไม่ค่อยไหว แต่ซื้อไม้ค้ำมาพยุงตัวเองเดินไปได้เรื่อย ๆ อยู่

เมื่อก่อนอยู่กับญาติ ก็มาโกงเงินผมไปหมด ผมทำอะไรไม่ได้ ทำได้แค่หาเงินใหม่"

 

เราเป็นห่วงเรื่องการเงินของผู้ป่วย ประเมินแล้วว่าเคสนี้อาจต้องติดต่อสังคมสงเคราะห์ให้มาประเมินหน้างานอีกที

คุณลุงพูดตอบมาแต่ละอย่างทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตของบางคนนั้นสู้ชีวิตเหลือเกิน ต้องดิ้นรนจนเหนื่อย แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จดังใจหมาย เรานับถือใจคุณลุงที่สู้ชีวิตมาถึงตอนนี้ได้ เก่งมากเลย

ระยะเวลาที่คุณลุงอยู่ รพ. รวมทั้งสิ้นประมาณ 3 สัปดาห์

จากมาเพียงแค่เจาะไต ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ช่วงระหว่างนอน รพ.มีมากขึ้น จนคุณหมอเจ้าของไข้ต้องปรึกษาหมอเกือบทุกสายใน รพ.

จากวันแรกที่ยังพอพยุงตัวเองนั่งกินข้าวได้ แต่ตอนนี้ทำได้เพียงนอนนิ่งเนื่องจากมะเร็งลุกลามไปที่กระดูกจนปวดตัวไปหมด  ลามไปที่ไขสันหลังจนทำให้ร่างกายส่วนล่างอ่อนแรง กลั้นอุจจาระและปัสสาวะไม่ได้

คุณลุงอยากกลับบ้าน จนตอนนี้ยังบอกพยาบาลว่า

"ผมไม่อยากเป็นภาระใคร อย่างน้อยขอให้ช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด สามารถนั่งรถเข็น (Wheel chair) ได้ ผมอยากเก็บเงินซื้อ ส่วนไม้ค้ำ ผมคงไม่ได้ใช้ ขอบริจาคให้คนไข้คนอื่น"

เรารุ้สึกว่าคุณลุงแม้จะป่วยกาย แต่ไม่ป่วยใจ เป็นคนที่เข้มแข็งมาก

 

เมื่ออาการเริ่มทุเลา ไม่มีความรุนแรงมาก คุณหมอตัดสินใจย้ายกลับ รพ.ต้นสังกัดตามสิทธิ์ และเพื่อตอบโจทย์ความจำนงค์ของผู้ป่วย

พยาบาลโทรหาญาติทุกคนของคนไข้ที่เป็นสายตรง ไม่มีใครยอมรับสายเลย

มีเพียงญาติ 1 คนที่รับสายและตอบกลับมาว่า "ฉันดูแลคนป่วยอยู่ 1 คน หากรับอีกคนมา ฉันคงไม่ไหว"

คนไข้แอบฟังอยู่ไม่ไกล สีหน้าเรียบเฉย แต่แววตาแสดงให้เห็นว่ารู้สึกเสียใจ เบือนหน้าหนีไปอีกทาง

 

ในตอนแรกเราได้ติดต่อสังคมสงเคราะห์และศูนย์พักพิงคนไร้บ้านไป พบว่าไม่สามารถรับคนดูแลเพิ่มได้เนื่องจากเต็มจำนวนแล้ว

แต่ถึงอย่างไร สุดท้ายเราก็ต้องย้ายกลับ รพ.ต้นสังกัดที่ส่งตัวมาก่อนอยู่ดี

 

เราไม่รู้จะตอบคุณลุงยังไงดี ได้แต่เข้าไปถามว่าหลังกลับ รพ.ใกล้บ้าน จะทำอย่างไรต่อ "ผมมีญาติคนหนึ่งที่พอคุยกันได้อยู่ที่นั่น ผมจะให้เขามาเยี่ยม" อย่างน้อยที่สังเกตเห็นคือคุณลุงดูมีสีหน้าดูสดใสขึ้น คงดีใจที่จะได้กลับใกล้บ้าน

 

จากนั้นคุณลุงก็โทรศัพท์หาญาติคนที่พยาบาลเพิ่งคุยไป เราได้ยินบทสนทนาจากระยะไกล "มาเยี่ยมแหน่เด้อ สิเอาเงินค่าเดินทางให้ดอก" คุณลุงไม่ถือโทษโกรธญาติคนนี้เลย แกเข้าใจว่าคนที่ดูแลคนป่วยนั้นเหนื่อยเพียงใด

 

จุดมุ่งหมายของคุณลุงคือไม่อยากผ่าตัด สิ่งใดจะเกิดก็ย่อมเกิด พร้อมยอมรับมัน

 

ถึงจุดนี้ เราไม่รู้ว่าจุดสุดท้ายของเรื่องราวนี้จะเป็นอย่างไร แต่ทางเราได้ทำเต็มที่ที่สุดแล้ว เราได้ประสานทีมช่วยเหลือประคับประคองผู้ป่วยให้มาดู ซึ่งทีมได้ติดต่อไปยังทีมของ รพ.ต้นสังกัดให้ช่วยดูแลติดตามต่อไป

 

ทุกครั้งที่ดูแลคนไข้ เราจะจดจำสิ่งที่อาจารย์สอนได้เสมอ

ตอนสมัยเรียนอาจารย์ถามว่า "นักศึกษาจะจัดการกับความรู้สึกตนเองอย่างไรเมื่อเห็นคนไข้ทุกข์ใจ ทรมานกับโรค หรือมีการเสียชีวิต" หลายคนตอบว่า รู้สึกเสียใจ ไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นเลย อาจารย์ตอบว่า

"หนูสามารถรับรู้ได้ รู้สึกได้ เห็นใจได้ ให้เป็นความรู้สึกแบบ Empathy ไม่ใช่ Sympathy"

เพราะ Empathy เป็นความเข้าอกเข้าใจ ส่วน Sympathy เป็นการเข้าไปมีอารมณ์ร่วมรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น

หากเรารู้สึก Sympathy เวลาดูแลคนไข้นั้น เราจะรับความรู้สึกของคนไข้อย่างท่วมท้นมากไป จนจัดการต่อตนเองและตอบสนองอย่างไม่เหมาะสม อย่างเช่น รู้สึกเสียใจที่คนไข้ปวดมากจากมะเร็งจนร้องไห้ เข้าใจความรู้สึกญาติที่สูญเสียคนไข้จนร้องไห้ไปด้วย ทำเช่นนี้ตัวคนไข้และญาติจะไม่มีหลักพึ่งพิงทางอารมณ์ในขณะที่เขากำลังเผชิญปัญหาค่ะ

 

 

หลายคนมองว่าพยาบาลอาจเคยชินกับเรื่องการเจ็บป่วยและการตายของคนไข้ แต่เชื่อหรือไม่ว่าเราไม่เคยชินเลยสักครั้ง

เราไม่อยากเห็นคนไข้ทนทุกข์ทรมาน มาถึงมือเรา เราดูแลได้เต็มที่ สุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไรก็สุดแต่โชคชะตาจะนำทาง

 

 ภาพประกอบจาก unsplash.com

ชอบบทความนี้หรือไม่? รับทราบข้อมูลโดย เข้าร่วมรับจดหมายข่าว!

ความเห็น

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนเพื่อแสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับผู้เขียน

รีวิวสุขภาพ ประสบการณ์ชีวิต การท่องเที่ยว การปลูกต้นไม้

บทความล่าสุด
เม.ย. 28, 2023, 2:40 หลังเที่ยง Sugarmommy
เม.ย. 28, 2023, 2:37 หลังเที่ยง เบญจพิธพร
เม.ย. 27, 2023, 12:49 หลังเที่ยง ศลิล ตันวิสุทธิ์