เข้าใจผู้ป่วยซึมเศร้ามากขึ้น ตอนที่ 1 : ทำไมผู้ป่วยซึมเศร้ามักจะมีน้ำหนักเกินและกลายเป็นโรคอ้วน

ผู้เขียนเป็นหนึ่งในผู้ป่วยซึมเศร้าเรื้อรัง และในอดีตก็เคยมีรูปร่างผอมบางมาก่อน พอทานยาต้านเศร้าได้สักปีสองปี น้ำหนักจาก 46 ก็ขึ้นมาเป็น 50-55 กก. ปัจจุบันนี้ได้ทานยาต้านเศร้าและเคยมีน้ำหนักตัวสูงสุดถึง 80 กก. แต่ปัจจุบันสามารถควบคุมอาหารและเปลี่ยนยาต้านเศร้าเป็นตัวอื่น น้ำหนักจึงค่อยๆลดลงมาจนหนัก 72 ในปัจจุบัน และเคยมีอยู่ช่วงปีนึงที่อาการซึมเศร้าดูเหมือนจะหายดี หมอให้เลิกกินยาไปเกือบปี น้ำหนักกลับค่อยๆลดลงเอง จนเหลือ 58 กก. แต่พอเลิกยาต้านเศร้าแล้ว อาการกลับเริ่มแย่ลง จนต้องกลับไปทานยาอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนรักษาโรคซึมเศร้ามาแล้วรวม 5 ปี จากน้ำหนักช่วงที่เลิกกินยา กลับมาเพิ่มขึ้นจนถึง 80 กก. ภายในสองปี ทั้งๆที่ทานอาหารตามปกติเหมือนตอนที่ไม่ได้ทานยา มันเป็นแบบนี้ไปได้อย่างไรกันนะ?

ผู้เขียนจึงไปปรึกษาหมอจิตเวชที่ได้ทำการรักษาผู้เขียนหลายท่าน ให้คำตอบตรงกันว่า ยาจิตเวชมีผลต่อน้ำหนักตัวผู้ป่วยจริง แต่ก็อาจจะมีผู้ป่วยบางท่านทานแล้วน้ำหนักลง ซึ่งขึ้นอยู่แต่ละบุคคล และส่วนมากผู้ป่วยเพศหญิงมักจะมีภาวะน้ำหนักเพิ่มขึ้นเยอะกว่าเพศชาย เพราะยาบางตัวมีฮอร์โมนที่ทำให้การเผาผลาญลดลง ผู้ป่วยซึมเศร้าส่วนมากมักจะไม่ค่อยออกกำลังกายและใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอน นั่งเฉยๆทั้งวันทำให้ไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย เมื่อทานอาหารเข้าไปแล้ว จึงทำให้อ้วนขึ้นได้ง่าย เพราะระบบเผาผลาญต่ำลง และถึงแม้บางคนจะไม่ค่อยได้ทานอะไรก็ตาม แต่น้ำหนักก็ยังขึ้นได้ สาเหตุเป็นเพราะว่า เมื่อเราทานอาหารน้อยลง ร่างกายจะเข้าสู่ภาวะกักเก็บไขมัน และทำให้ระบบเผาผลาญลดลง เพราะคิดว่าร่างกายกำลังจะอดตาย เมื่อทานอาหารน้อย+กับการขยับตัวน้อย ร่างกายจึงเก็บสารอาหารที่ทานเข้าไปให้กลายเป็นรูปไขมันสะสม จึงทำให้มีน้ำหนักเกิน และหากผู้ป่วยบางรายได้ทานยาต้านเศร้าที่มีฤทธิ์ช่วยเพิ่มความอยากอาหาร ก็จะกินอาหารเยอะขึ้นกว่าปกติ และถ้าไม่ค่อยขยับตัวหรือออกกำลังกาย ก็สามารถมีน้ำหนักพุ่งไปถึง 100 กก.++ ได้เช่นกัน เมื่อผู้ป่วยน้ำหนักเพิ่มขึ้น ก็จะเครียด เมื่อเครียดร่างกายก็จะหลั่งสารคอร์ติซอล ทำให้ร่างกายอ้วนขึ้นเพิ่ม จนทำให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นซึมเศร้าหนักขึ้น

แล้วแบบนี้ เราจะช่วยผู้ป่วยซึมเศร้าอย่างไรดี? ผู้เขียนขอให้คำแนะนำดังนี้ จากประสบการณ์ที่ทำแล้วน้ำหนักตัวลดลง

1.ลองปรึกษาจิตแพทย์ให้ลองปรับเปลี่ยนยาเป็นตัวอื่น
2.เริ่มควบคุมอาหาร เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นโปรตีน ลดอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตลง (กรณีผู้ป่วยน้ำหนักเกินจากการทานอาหารมากเกินไป) สามารถให้มื้อโกง (Cheat meal) ทานอาหารที่ชอบหรือต้องการได้อาทิตย์ละครั้ง เพื่อไม่ให้ร่างกายโหยแล้วรู้สึกเครียดเกินไป ส่วนในกรณีผู้ป่วยที่ระบบเผาผลาญพังเพราะทานน้อย ให้ทานอาหารที่มีประโยชน์ให้เยอะขึ้น โดยเน้นโปรตีน คิอเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ต้ม เนื้อปลา ลดอาหารคาร์โบไฮเดรตจำพวกข้าว แป้ง ให้น้อยลง ทานผักให้มากขึ้นและเลือกทานผลไม้ไม่หวานหรือหวานน้อยบ้าง แทนการกินขนมหรือของหวานน้ำตาลสูงซึ่งจะทำให้อ้วนง่าย
3.เพิ่มกิจกรรมขยับตัว เริ่มจากไม่หนักมากเช่น เดินเล่น แกว่งแขน ทำงานบ้าน ถอนหญ้า ทำสวน หรือออกกำลังกายเบาๆ เช่น โยคะ พิลาทีส เต้นแอโรบิก วิ่งเหยาะๆ เป็นการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอให้ได้วันละ 30 นาที และออกกำลังกายแบบบอดี้เวท (ออกกำลังกายแบบเวท เทรนนิ่ง โดยใช้น้ำหนักตัวของตัวเองอีก 30 นาที) สามารถหาวิดิโอใน Youtube แล้วทำตามได้ง่ายๆ โดยค่อยๆ ออกกำลังกายวันละนิด เช่น 10 นาที เพิ่มเป็น 20 นาที และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนครบ 45- 60 นาทีตามลำดับความแข็งแกร่งที่ต่อยๆเพิ่มขึ้น มีวันพักสัปดาห์ละ 1-2 วัน เพื่อให้ร่างกายไม่เครียดจนเกินไป และอนุญาตให้มีมื้อโกงได้สัปดาห์ละครั้งเช่นกัน

เป็นอย่างไรบ้างคะ ตอนนี้เพื่อนๆเริ่มเข้าใจผู้ป่วยซึมเศร้าและพร้อมจะช่วยคนที่คุณรักให้มีสุขภาพกายและใจที่ดีขึ้นได้หรือยัง ผู้ป่วยซึมเศร้าต้องการกำลังใจในการใช้ชีวิตอย่างมาก ขอให้บทความนี้ได้ช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายและใจที่ดีขึ้นนะคะ

ชอบบทความนี้หรือไม่? รับทราบข้อมูลโดย เข้าร่วมรับจดหมายข่าว!

ความเห็น

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนเพื่อแสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับผู้เขียน

นักเขียนผู้ชื่นชอบการเล่นเกม อ่านหนังสือ ฟังเพลง เรียนภาษา ทำอาหาร อบขนม งีบหลับได้ทุกเวลาด้วยฤทธิ์ยาต้านเศร้า สายตาไม่ค่อยดี แต่ก็สู้ไม่ถอยนะจ๊ะ

บทความล่าสุด
เม.ย. 28, 2023, 2:40 หลังเที่ยง Sugarmommy
เม.ย. 28, 2023, 2:37 หลังเที่ยง เบญจพิธพร
เม.ย. 27, 2023, 12:49 หลังเที่ยง ศลิล ตันวิสุทธิ์