[รีวิว] เอกเกาหลี อักษร จุฬาฯ [+แนะแนวสำหรับปี 2566]

สวัสดีค่า :) เราตั้งใจเขียนบทความนี้เพื่อประโยชน์ของน้อง ๆ ที่กำลังจะเข้าหรือเล็ง ๆ เอกภาษาเกาหลี อักษร จุฬาฯ ค่ะ โดยเราจะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรก เป็นการรีวิวภาพรวมของเอกภาษาเกาหลี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ทั้งหลักสูตร สังคมในเอกทั้งอาจารย์และเพื่อน รวมถึงความรู้สึกของเราหลังจากเข้ามาเรียนเอกนี้ ส่วนที่สอง เป็นการแนะแนวเบื้องต้นสำหรับการเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อเข้าเอกภาษาเกาหลีต่อไปค่ะ 

love

รีวิวเอกเกาหลี

รีวิวเอกภาษาเกาหลี 

1. หลักสูตร 

สามารถเข้าสังกัดในเอกภาษาเกาหลีได้ทั้งคนที่มีพื้นฐานภาษาเกาหลีมาก่อน(เคยสอบ PAT 7.7 หรือ A-Level ภาษาเกาหลี หรือ มีคะแนนโทปิคตามเกณฑ์ที่สาขากำหนด) และคนที่ไม่มีพื้นฐานภาษาเกาหลี นั่นหมายความว่า แม้น้องจะไม่เคยรู้ภาษาเกาหลีมาก่อนเลย อาจจะพออ่านออก ก็สามารถเข้ามาเรียนตัวพื้นฐานเพื่อเข้าเอกภาษาเกาหลีได้เช่นกัน พอเข้าเอกแล้วก็เรียนด้วยกันทั้งสองกลุ่ม

ความแตกต่างของสองกลุ่มนี้คือ ตอนปี 1 กลุ่มที่มีพื้นฐานต้องเรียน Korean Reading และ Korean Writing ภาคการศึกษาละตัว และต้องมีเกรดเฉลี่ยของสองวิชานี้อยู่ที่ 3.0 ขึ้นไปจึงจะเข้าสังกัดเอกภาษาเกาหลีได้ เช่น น้องได้ตัวนึง B+ (3.5) แต่อีกตัวนึงได้ C+ (2.5) เกรดเฉลี่ยออกมาเป็น 3.0 ก็ยังถือว่าผ่านเกณฑ์นั่นเอง ส่วนกลุ่มที่ไม่มีพื้นฐานต้องเรียน Korean 1 และ Korean 2 ตามหนังสือ Ehwa 1-1, 1-2 จะสอนตั้งแต่การนำพยัญชนะและสระมาประสมกัน การอ่านออกเสียงเบื้องต้น บทสนทนาเบื้องต้น เหมือนกับเวลาที่เราเริ่มเรียนภาษาใหม่ทั่วไปเลย และเช่นกัน เกรดเฉลี่ยของ 2 วิชานี้ต้องอยู่ที่ 3.0 ขึ้นไปจึงจะเข้าสังกัดเอกภาษาเกาหลีได้ 

เอกภาษาเกาหลีเป็นเอก-โท 66 หน่วยกิต หมายความว่า นอกจากเรียนภาษาเกาหลี 48 หน่วยกิต ซึ่งเป็นวิชาบังคับเอก 30 หน่วยกิตและวิชาเลือกเอก 18 หน่วยกิต ยังต้องเลือกและเรียนโทของตัวเองอีก 18 หน่วยกิต ซึ่งทั้งเอกและโทจะมีการส่งฟอร์มขอเข้าเอก-โทตอนช่วงปิดเทอมปี 1 ขึ้นปี 2 (โดยทั่วไปคือเปิดให้ส่งฟอร์มได้หลังจากเกรดของภาคปลายปี 1 ออก ทันที) 

วิชาบังคับเอก ได้แก่ Korean 3-4-5-6 (ตามหนังสือ Ehwa), Listening and Speaking 1-2, Sound System (ปีหน้าจะไม่เป็นวิชาบังคับเอกแล้ว แต่ส่วนตัวแม้เรากับเพื่อนจะบ่นกันว่ายาก เนื้อหาเยอะ พวกกฎการออกเสียงต่าง ๆ แต่เราว่าเป็นวิชาที่นิสิตเอกเกาหลีควรเรียน มีความสำคัญจริง ๆ ค่ะ TT), Fundamental Translation, Korean Culture, Grammar ส่วนตัวเราคิดว่าเป็นการสอนเน้นลงรายละเอียด อาจไม่ได้เน้นอัดแน่นคำศัพท์และไวยากรณ์ถึงขั้นสามารถเรียนแล้วไปสอบโทปิคได้กึบสูง ๆ ได้เลย จึงต้องมีการอ่านเสริมเองเยอะ ๆ ค่ะ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการเรียนภาษา แต่ถามว่าเราขยันถึงขั้นอ่านเสริมเองมั้ย ก็ 555555 ไม่เป็นไร เมื่อถึงเวลาเราเชื่อว่าทุกคนสามารถทำในสิ่งที่ต้องทำได้

จากที่เกริ่น ๆ เรื่องเกรดไปข้างต้นน้องอาจสงสัยว่าแล้ว B+ C+ นี่คือเท่าไหร่ ได้ A ยากไหม เอกเกาหลีส่วนใหญ่ตัด A ที่ 90 ค่ะ มีบางวิชาที่ตัดที่ 85 บางวิชาตัดอิงกลุ่ม หรืออิงกลุ่มผสมอิงเกณฑ์ ส่วนตัวคิดว่าเราควรสนุกไปกับการเรียนมากกว่ากังวลเรื่องเกรดจนเกินไป แม้ตอนมิดเทอมไฟนอลจะยมส์มากก็ตาม (ฮา) เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยมาเราขอแนะนำว่า ไม่ว่าได้เกรดเท่าไหร่พึงคิดว่า เราเก่งแล้ว ไว้เสมอค่ะ ขอแค่ตอนเข้าเอกต้องทำเกรดเฉลี่ยให้ผ่านเกณฑ์ที่สาขากำหนด 

2. สังคม 

อาจารย์ในสาขาภาษาเกาหลีมีน้อยแต่ใจดีม๊าก อันดับหนึ่งนัมเบอวัน อย่าง อาจารย์ไม่ดุเวลาใช้ไวยากรณ์ผิด แต่จะเป็นการรับรู้แทนว่า นิสิตยังไม่ค่อยเข้าใจในส่วนนี้แล้วสอนแก้ให้ บางทีก็คอยถามการเรียนเป็นยังไงบ้าง พูดปลอบใจอย่าเครียดมากนะ เราว่าเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่ช่วยคลายกังวลในการเรียนได้ เอกเกาหลีเวลามีงานอาจารย์ก็จะเลี้ยงหรือพาไปเลี้ยงเหมือนเป็นมีตติ้งของเอกเล็ก ๆ ได้กินข้าวกับเพื่อนในเอกโดยที่มีอาจารย์ไปด้วย เฮฮาเอาเรื่อง เพื่อน ๆ ก็อัธยาศัยดี มีทั้งคนที่ชอบทำกิจกรรม ไม่ชอบทำกิจกรรม ฟิตเรียน ไม่ฟิตเรียน ก็เข้ากันได้หมด ส่วนการสานสัมพันธ์กับรุ่นพี่รุ่นน้องก็ค่อนข้างโอเค มีกิจกรรมสายรหัสให้เข้าร่วม อันนี้แล้วแต่คนเลยว่าอยากสนิทกับพี่น้องมากแค่ไหน ส่วนตัวเราชอบปรึกษารุ่นพี่ ขอรีวิวนู่นนี่รุ่นพี่ก็รีวิวให้ดีมาก 

3. ความรู้สึกของเราหลังจากเข้าเอก

ขอบอกก่อนว่าเอกเกาหลีไม่ใช่เป้าหมายของเราในตอนแรกที่เข้าอักษร จุฬาฯ แต่พอเราไม่ได้เข้าเอกที่เป็นเป้าหมายตอนแรกแล้วก็ค้นพบว่าเราทุ่มเทให้ภาษาเกาหลีมากตอนปี 1 เราเรียนเทอมละ 7 วิชา แต่เกาหลีคือนัมเบอวันที่เราทุ่มให้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เราตัดสินใจยื่นขอเข้าเอกภาษาเกาหลี การเรียนที่ผ่านมาเราก็ค่อนข้างโอเค รุ่นเรามีทั้งเรียนออนไลน์และออนไซต์ ซึ่งมีข้อดีคนละแบบแล้วก็ทำให้เราได้ค้นพบความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อภาษาเกาหลีที่เอกเกาหลี อักษร จุฬาฯ ในแบบใหม่ ๆ (감동...) เพราะฉะนั้น น้อง ๆ ที่มีเป้าหมายเป็นเอกเกาหลีอยู่แล้วต้องเรียนได้ดียิ่งกว่าเราแน่นอน

แนะแนวสำหรับปี 66

แนะแนวเบื้องต้นสำหรับการเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อเข้าเอกภาษาเกาหลี

1. อันดับแรกเราต้องเอาตัวเองเข้ามาในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ก่อน เกรดเฉลี่ยมัธยมปลายต้องไม่ต่ำกว่า 2.75 ในส่วนคะแนนสอบ รุ่นเรา รอบสาม ใช้วิชาสามัญไทย สังคม อังกฤษ และPAT ภาษาใดก็ได้ ทุกภาษาเลย อย่างละ 25% แต่รุ่นปี 66 ใช้คะแนนสอบข้อสอบแบบใหม่ยื่น คือ A-Level ไทย สังคม อังกฤษ และภาษาใดภาษาหนึ่ง ซึ่งปีนี้โซนภาษาเหมือนจะไม่มีภาษาอาหรับแล้วแต่เพิ่มภาษาสเปนเข้ามาแทน(หรือจะยื่นภาษาเกาหลีเลยก็ได้) อย่างละ 25% (ขออภัยหากข้อมูลของเราผิดพลาด) ตัวข้อสอบและคะแนนน่าจะมีส่วนที่ต่างกันจากของรุ่นเรา เกณฑ์โดยรวมน่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบในการลดเปอร์เซ็นต์การยื่นติด แต่จำนวนที่รับ ที่อาจน้อยลงอาจส่งผลกระทบค่ะ (ติดตามประกาศจากทางมหาวิทยาลัยต่อไป)

2. เมื่อเข้าคณะมาแล้วเราต้องเผชิญกับความจริงที่ว่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปี 1 จะเน้นเรียนวิชาบังคับคณะเยอะมาก ซึ่งจะเป็นวิชาพื้นฐานจากภาควิชาต่าง ๆ ในคณะ เช่น การให้เหตุผล(ภาควิชาปรัชญา) อารยธรรมตะวันออกและตก(ภาควิชาประวัติศาสตร์) นอกจากเราจะได้เรียนวิชาอักษรของแท้แล้วยังได้มีโอกาสค้นพบความชอบตัวเองอีกด้วยซึ่งอาจกลายมาเป็นวิชาโทของเรา แต่ในขณะที่เรียนวิชาพื้นฐานของคณะก็ต้องตั้งใจเรียนภาษาเกาหลีให้เกรดเฉลี่ยผ่านเกณฑ์ที่สาขากำหนดด้วยนะ 

3. เรียนภาษาเกาหลีครบทั้งสองตัวตามเงื่อนไขของตัวเองและเกรดเฉลี่ยผ่านเกณฑ์ที่สาขากำหนดแล้วก็ทำการยื่นขอเข้าเอกโลด

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

*เนื้อหาบางส่วนเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของเรา โปรดใช้วิจารณญาณนะคะ*

ขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้นะคะ หวังว่าจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านค่ะ 

บทความต่อไปจะมารีวิววิชาบังคับคณะ ของอักษร จุฬาฯ ค่ะ :) 

 

ชอบบทความนี้หรือไม่? รับทราบข้อมูลโดย เข้าร่วมรับจดหมายข่าว!

ความเห็น

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนเพื่อแสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับผู้เขียน
บทความล่าสุด
เม.ย. 28, 2023, 2:40 หลังเที่ยง Sugarmommy
เม.ย. 28, 2023, 2:37 หลังเที่ยง เบญจพิธพร
เม.ย. 27, 2023, 12:49 หลังเที่ยง ศลิล ตันวิสุทธิ์