รีวิวหนังสือ 'ที่ใดมีความเศร้า' ของออสการ์ ไวลด์ ฉลองเดือน Pride Month

สวัสดีค่ะ วันนี้เฟิร์นมีหนังสือที่น่าสนใจมาแนะนำให้ทุกคนได้ลองอ่านกันค่ะ เนื่องจากเดือนนี้เป็นเดือน Pride Month เดือนของผู้มีความหลากหลายทางเพศนะคะ เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนไม่ว่าจะเพศไหน ๆ ก็รักกันได้ เราอยากจะชวนมาดูความรักที่เคยไม่เท่าเทียมกันสักหน่อยของคนที่เป็น LGBT ในสมัยก่อน อ่านแล้วสงสารจับใจเลย การที่เราแตกต่างทำให้เราไม่มีสิทธิ์ที่จะรักเลยอย่างนั้นหรือ เพราะเพศทางเลือกก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับชายและหญิงนะคะ

'ที่ใดมีความเศร้า' หรือ 'De Profundis' เขียนโดย ออสการ์ ไวลด์ นักเขียนเจ้าของนิยายดัง The Picture of Dorian Gray ที่เป็นนิยายความรักของเกย์ นิยายมักสะท้อนตัวตนของผู้เขียน ถึงแม้ออสการ์ ไวลด์ จะมีภรรยาและลูก แต่ก็มีคนจับผิดว่าเขาเป็นเกย์หรือเปล่า ถึงขนาดให้นักสืบเอกชนสะกดรอยตามเขา และหาหลักฐานมาฟ้องเลยนะคะ สมัยนั้นการเป็นรักร่วมเพศผิดกฎหมาย และที่หนักข้อกว่านั้นคือการร่วมเพศทางทวารหนักแม้จะเป็นกิจกรรมของชายจริงหญิงแท้ก็ผิดกฎหมายด้วย ทำให้ออสการ์ ไวลด์ ไม่มีทางหลุดรอดจากคดีนี้ได้เลยค่ะ นอกจากจะต้องโกหกว่าไม่ได้เป็นเกย์ แต่จนแล้วจนรอดด้วยความพยายามของคนที่จะฟ้อง เขาก็ไปหาพยานพวกโสเภณีชายที่ออสการ์ ไวลด์เคยไปมีสัมพันธ์ด้วย ชายคู่ขา หรือเจ้าของสถานบริการ ในที่สุดก็แพ้คดีจนล้มละลาย ต้องมาติดคุกและทำงานหนักในฐานะนักโทษด้วยนะคะ

'ที่ใดมีความเศร้า' จึงเป็นความเรียงที่ออสการ์ ไวลด์ เขียนบรรยายถึงความโศกเศร้าของเขานั่นเอง เขาพูดถึงความอยุติธรรมที่เขาได้รับ เพราะเขาไม่ได้ทำอะไรผิด เขาเชื่อมั่นในตัวตนที่เป็นแม้จะถูกทรมาน สิ่งที่เขาค้นพบจากการติดคุกคือการปลงเสียมากกว่า เขาพบว่าความเศร้ามันเป็นเนื้อแท้ ไม่ได้จอมปลอมเหมือนความสุข ความรื่นเริง เหมือนหน้ากากที่คนใส่เข้าหากัน เขาได้ค้นพบวิธีการใช้ชีวิตใหม่ว่า เขาใช้ชีวิตผิดมาตลอด เขาพยายามใช้ชีวิตถูกทำนองคลองธรรม แต่โชคชะตาก็ทำให้เขาต้องมาต้องโทษ เขาเสียดายที่เขาไม่ได้ลองผิดลองถูก ไปในทางห่าม ๆ หมิ่นเหม่ศีลธรรมบ้างเลย ในเมื่อต้องมาพบจุดจบที่ลำบากดำมืด เขาทำตามที่พ่อสอนคือรักษาชื่อเสียง แต่เขาก็เสียมันไป ถ้าเขาเป็นคนธรรมดาที่ไม่ใช่นักเขียนดัง ความผิดแค่เป็นเกย์คงไม่ถึงขนาดต้องติดคุก 

จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ถึงเราจะไม่ได้เข้าใจทั้งหมด เพราะอ้างอิงศาสนาคริสต์เยอะ แล้วเราไม่ได้เป็นชาวคริสต์ แต่เรารับรู้ได้ถึงความหนักอึ้ง เศร้ามากจนเห็นสัจธรรมของชีวิต ได้เห็นการตกผลึกประสบการณ์ของตัวเขาที่มองหาแง่ดีของความทุกข์ ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะมองไม่เห็นแง่งามของมัน เขาเป็นนักเขียนที่ใช้ metaphor ได้อลังการมาก ภาษาแปลยังสวยเลย เราอ่านงานเขาด้วยอารมณ์ลอย ๆ ตามเขาไป ยังไม่ต้องคิดว่าจะเข้าใจทั้งหมดหรือเปล่า เพราะจะมีความเรียง ' รักที่ไม่กล้าเอ่ยนาม' ที่รวบรวมคดีความของออสการ์ ไวลด์ เป็นบริบทเสริมให้เราอ่านงาน 'ที่ใดมีความเศร้า' ได้เข้าใจยิ่งขึ้น

อ่านแล้วจุกค่ะ รักมี 2 ประเภท คือ รักที่กล้าเอ่ยนาม คือ รักปกติตามวิถีของสังคม รักที่ไม่กล้าเอ่ยนาม จริง ๆ ก็รักเหมือนกัน แต่เอ่ยไม่ได้ เพราะมีคนรู้คือกลายเป็นคนบาปของสังคมเลย มีตอนนึงที่คาร์สัน (คนฟ้องออสการ์ ไวลด์) มาถามออสการ์ ไวลด์แบบไล่ต้อนเรื่องความรักระหว่างชายชาย เขาตอบได้ฉลาดมาก เขายกความรักสมัยกรีกยุคเพลโตที่ตอนนั้นความรักแบบชายชายหรือวายเป็นเรื่องปกติ ชายแก่คือส่งปัญญาให้ชายหนุ่ม ส่วนชายหนุ่มคือส่งความร่าเริง ความสุขให้กับชายแก่ อ่านแล้วก็แบบถ้าเขารักกัน มันก็คือคู่ชีวิตพึ่งพากันแบบชายหญิงเลย ตอนนี้ประเทศไทยก็กำลังรอให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านนะคะ เพื่อให้นิติกรรมอื่น ๆ เช่น มรดก การเซ็นยินยอมรักษาพยาบาล สามารถกระทำโดยคู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกันได้ ถึงเราจะเป็น Straight เราก็ช่วยสนับสนุนความเท่าเทียมของเพื่อนมนุษย์ได้นะคะ

บรรณานุกรม

ออสการ์ ไวลด์. ที่ใดมีความเศร้า De Profundis. แปลโดย รติพร ชัยปิยะพร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: พารากราฟ, 2562.

ชอบบทความนี้หรือไม่? รับทราบข้อมูลโดย เข้าร่วมรับจดหมายข่าว!

ความเห็น

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนเพื่อแสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับผู้เขียน
บทความล่าสุด
เม.ย. 28, 2023, 2:40 หลังเที่ยง Sugarmommy
เม.ย. 28, 2023, 2:37 หลังเที่ยง เบญจพิธพร
เม.ย. 27, 2023, 12:49 หลังเที่ยง ศลิล ตันวิสุทธิ์