ลูกเรียนภาษาอังกฤษ ... เรารู้จักโฟนิคส์หรือยัง? (ตอนที่ 1)

ลองนึกภาพตามผมนะครับ เราสะกดคำว่า แมว อย่างไร --- มอ แอ วอ แมว ใช่ไหมครับ.... แล้วเราสะกดคำว่า CAT อย่างไร -- ซี เอ ที แคท แปลว่าแมว ใช่ไหม?

ทำไมเราไม่สะกดแบบภาษาไทยล่ะครับ??  

ปัจจุบันในชั้นอนุบาลและประถมศึกษาของแทบทุกโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนเอกชน ได้จัดการสอนเรื่องโฟนิคส์ (บางทีก็ใช้ โฟนิค, โฟนิกส์ หรือ โฟนิก) ซึ่งเป็นวิธีการเรียนอ่านเขียนและออกเสียงภาษาอังกฤษโดยใช้หลักการถอดรหัสเสียงและการผสมเสียงตัวอักษร a ถึง z บางครั้งอาจมีการบ้านจากโรงเรียนที่ครูให้เด็กๆ มาอ่านคำหรือประโยคสั้นๆให้ผู้ปกครองฟังและเซ็นชื่อ ..... แล้วโฟนิคส์ดีอย่างไร สำคัญขนาดไหนกันเชียว .... เรามาดูกัน!

 

ผมขอย้อนอดีตก่อนนะครับ โฟนิคส์ (Phonics) ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันมีการเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ปีค.ศ. 1850 (อ้างอิงจากหนังสือ Sound Familiar: The History of Phonics Teaching) เพียงแต่มันถูกใช้ร่วมกับวิธีการอื่นๆ

 

ในปีค.ศ.1908 นักจิตวิทยาชาวอเมริกันชื่อ เอ็ดมันด์ เฮย์ (Edmund Huey)ได้ส่งเสริมการใช้เทคนิค “ดูแล้วพูด (look and say) หรือที่เรียกอีกอย่างว่า การอ่านทั้งคำ (คือจำว่าคำที่เขียนแบบนี้จะอ่านแบบนี้นะ – ไม่สะกดคำ) เทคนิคนี้ได้นำไปใช้ในประเทศอังกฤษในช่วงทศวรรษ 1940 แล้วอีก 10-20ปีต่อมา เจเน็ตและจอห์นก็ทำให้เทคนิคนี้แพร่หลาย โดยให้เด็กอ่านคำซ้ำๆจนจำได้

 

และในปี ค.ศ. 1955 ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านชาวอเมริกา ชื่อรูดอล์ฟ เฟรช (Rudolph Flesch) ได้ตีพิมพ์หนังสือที่ถือเป็นคัมภีร์แห่งขบวนการโฟนิคส์ ชื่อว่า Why Johnny Can’t Read – And What You Can Do About It (ทำไมจอห์นนี่อ่านไม่ออก – และคุณทำอะไรได้บ้าง) เรื่องมันเกิดขึ้นจากการที่รูดอล์ฟเสนอตัวเข้าไปแก้ไขปัญหาการอ่านของลูกชายอายุ12ปีของเพื่อน แล้วพบว่ามันต้องเกี่ยวข้องกับอะไรบางอย่างที่ได้รับมาจากโรงเรียน เขาจึงสืบสวนหาวิธีสอนการอ่านในโรงเรียนแล้วตีพิมพ์สิ่งที่ค้นพบนั้น (Five things about phonics by Kathryn Westcott,BBC News Magazine, 18th June 2012)

 

ในช่วงเวลานั้น เด็กอนุบาลในประเทศอังกฤษอ่านนิทานเรื่องลูกหมูสามตัว (Three Little Pigs) กันแล้ว ส่วนในเยอรมนี นักเรียน ป.2สามารถอ่านออกเสียงจากหนังสือและสิ่งพิมพ์ต่างๆได้แล้ว (แม้ว่าจะไม่รู้ความหมายของคำทั้งหมด)  ตรงกันข้ามกับเด็กอเมริกัน ป.3 ซึ่งสามารถอ่านคำได้คล่องแคล่วแค่เพียง 1,800 คำ รูดอล์ฟสงสัยว่าทำไมอเมริกาจึงล้าหลัง เขากล่าวว่าพวกเราเลือกที่จะลืมว่าเราเขียนด้วยตัวอักษร แต่เรากลับอ่านภาษาอังกฤษเหมือนว่ามันเป็นภาษาจีน (Education: Why Johnny Can't Read Monday, Mar. 14, 1955) (หมายถึงเด็กอมริกันจำคำทั้งคำ ไม่ได้สะกดคำ และภาษาอังกฤษ 1คำมีหลายตัวอักษร แต่ภาษาจีน 1 ตัวอักษรก็เป็นหนึ่งคำ และเป็นอักษรภาพ (logogram)) --- โปรดตามตามตอนที่ 2 

ชอบบทความนี้หรือไม่? รับทราบข้อมูลโดย เข้าร่วมรับจดหมายข่าว!

ความเห็น

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนเพื่อแสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับผู้เขียน

ชายวัยกลางคน หัวหน้าครอบครัวที่มีแมวสี่ตัว, Work from home ยาวๆ

บทความล่าสุด
เม.ย. 28, 2023, 2:40 หลังเที่ยง Sugarmommy
เม.ย. 28, 2023, 2:37 หลังเที่ยง เบญจพิธพร
เม.ย. 27, 2023, 12:49 หลังเที่ยง ศลิล ตันวิสุทธิ์