รีวิวหลักสูตร วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา (Civil Engineering)| เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง? | จบมาทำงานเกี่ยวกับอะไรได้บ้าง? | มีรายได้เป็นอย่างไรบ้าง?

รีวิวหลักสูตร วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา (Civil Engineering)| เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง? | จบมาทำงานเกี่ยวกับอะไรได้บ้าง? | มีรายได้เป็นอย่างไรบ้าง?

 

“อาชีพวิศวกร” เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ใครหลายๆ คน ใฝ่ฝันที่อยากจะเป็น เพราะอาจจะเป็นจากหลายๆ เหตุผล ทั้งเรื่องความท้าทายที่มีมาก หรือเรื่องค่าตอบแทนที่ดี จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายๆ คน ต้องการที่จะเป็น “วิศวกร”

 

 

“วิศวกร” ก็มีมากมายหลากหลายสาขา มีหลายๆ คน เข้าใจว่า “วิศวกร” ต้องทำงานเกี่ยวกับการก่อสร้าง หรือทำงานโรงงานเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว วิศวกร มีหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหการ, ไฟฟ้า, เครื่องกล, โยธา, เคมี, โลหการ, สิ่งแวดล้อม, วัสดุ และอื่นๆ อีกมากมาย

 

สำหรับในครั้งนี้ ผมจะขอมาเล่ารายละเอียดของ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา (Civil Engineering) ว่าเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง? เรียนจบมาทำงานเกี่ยวกับอะไรได้บ้าง? และเรียนจบมาแล้วมีรายได้เป็นอย่างไรบ้าง?

 

 

สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา หรือ Civil Engineering เป็นหนึ่งในสาขาวิชาทางวิศวกรรมศาสตร์ที่เก่าแก่มากที่สุดในโลก โดยมีหลักฐานอ้างอิงจากประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ในสมัยยุคอิยิปต์โบราณ มี วิศวกรโยธาคนแรกสุดในประวัติศาสตร์ ที่ได้ทำการคุมงานก่อสร้างต่างๆ ในยุคนั้น รวมไปถึง พีระมิดโดจเซอร์ ในซาคคารา ในประเทศอียิปต์ อีกด้วย

 

ต่อมา สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา หรือ Civil Engineering ได้มีการพัฒนามาตามยุคตามสมัย และได้มีการก่อตั้ง โรงเรียนวิศวกรรมศาสตร์ทางการทหาร The National School of Bridges and Highways ในประเทศฝรั่งเศส ในปี 1747 และ บิดาแห่งวิศวกรรมโยธา หรือ วิศวกรโยธาคนแรก คือ John Smeaton ซึ่งเป็นคนสร้าง Eddystone Lighthouse ในปี 1771 และต่อมา เขากับกลุ่มเพื่อนๆ ก็ได้ทำการก่อตั้ง Smeatonian Society of Civil Engineers และในปี 1818 Institution of Civil Engineers ก็ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นแห่งแรก ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และหลังจากนั้น ก่อได้ทำการแพร่หลายไปทั่วโลก

 

 

สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา หรือ Civil Engineering กำเนิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2472 โดยทำการก่อตั้งอย่างเป็นทางการ พร้อมๆ กันกับ สาขาวิชา วิศวกรรมเครื่องกล และ สาขาวิชา วิศวกรรมไฟฟ้า

 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2506 ทาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ก็ได้ทำการเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตร วิศวกรรมโยธา ขึ้น และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ได้เปิดการเรียนการสอนใน สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2507 ตามลำดับ และก็ได้เปิดกันแพร่หลายจนถึงทุกวันนี้

 

    

สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา หรือ Civil Engineering เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับ การออกแบบ การก่อสร้าง และการบำรุงรักษา สิ่งปลูกสร้างต่างๆ การสร้างตึก อาคาร สะพาน ถนน ระบบขนส่ง สร้างเขื่อน ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ตลอดจนการทำรังวัดในงานสำรวจและแผนที่ รวมไปถึงการวิเคราะห์ทางธรณีและชลศาสตร์ นอกจากนี้ยังจะต้องเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการงานก่อสร้างอย่างถูกวิธีให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยใช้พื้นความรู้ในด้านคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์ และพื้นฐานทางวิศวกรรมเป็นหลัก ต้องสามารถประยุกต์ทฤษฎีทั้งหลายเพื่อมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด อีกด้วยครับผม

 

สำหรับผู้ที่เรียนจบใน สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา หรือ Civil Engineering จะเรียกว่า วิศวกรโยธา หรือ นายช่าง ซึ่งในการทำงานในประเทศไทย วิศวกรโยธาจะต้องทำการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม หรือ กว. เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นวิศวกร หรือ นายช่าง เสียก่อน จึงจะสามารถประกอบอาชีพได้

 

 

สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา หรือ Civil Engineering สามารถแบ่งแยกเป็นสาขาวิชาย่อยได้ ดังนี้

 

1. วิศวกรรมโครงสร้าง (Structural Engineering) ทำการศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบและคำนวณสิ่งก่อสร้างชนิดต่าง ๆ ดังนั้นการศึกษาในสาขานี้จะเน้นไปทางด้านงานคำนวณวิเคราะห์ ออกแบบโครงสร้างของสิ่งก่อสร้าง และแรงต้านทานของวัสดุ เพื่อหาวัสดุและขนาดของวัสดุที่เหมาะสมกับงานนั้น ๆ งานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การก่อสร้างอาคาร เขื่อนหรือสะพาน เป็นต้น

 

2. วิศวกรรมก่อสร้างและการจัดการ (Construction Engineering and Management) ทำการศึกษาเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารเป็นหลัก โดยเน้นศึกษาทางด้านระบบการสร้างอาคาร การวางแผนงาน การประเมินราคาค่าก่อสร้าง นอกจากนี้ ในบางสถาบันจะมีการสอนเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ และระบบสุขาภิบาลภายในอาคาร

 

3. วิศวกรรมขนส่ง (Transportation Engineering) ทำการศึกษาแยกเป็น 2 สาขาหลัก คือ ระบบ และวัสดุ โดยงานทางด้านระบบจะเน้นทางด้านการวางผัง การจราจร และการจัดการทางด้านงานจราจร โดยทำการศึกษาถึงประโยชน์และค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างระบบถนน สำหรับงานทางด้านวัสดุจะเน้นในการศึกษาวัสดุในการทำถนน ได้แก่ คอนกรีตและยางมะตอย เป็นหลัก โดยศึกษาถึงกรรมวิธีในการสร้างถนนและปรับปรุงถนน

 

4. วิศวกรรมเทคนิคธรณี (Geotechnical engineering) ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติทางด้านฟิสิกส์และวิศวกรรมของดิน เพื่อนำมาการวิเคราะห์ ออกแบบ และแก้ปัญหาด้านวิศวกรรมโยธา

 

 

5. วิศวกรรมธรณี (Geological engineering) ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติทางด้านฟิสิกส์ วิศวกรรมของหิน และธรณีวิทยาประยุกต์ เพื่อการวิเคราะห์ ออกแบบ และแก้ปัญหาด้านวิศวกรรมโยธาและเหมืองแร่

 

6. วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Engineering) ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการระบบสิ่งแวดล้อมในน้ำและในอากาศ การปรับปรุงคุณภาพของของเสียต่าง ๆ

 

7. วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ (Water Resource engineering) ศึกษาเกี่ยวกับงานทางด้านแหล่งน้ำ ปริมาณน้ำฝน และระบบการระบายน้ำ รวมทั้งการก่อสร้างคูน้ำ คลอง และแม่น้ำ อีกด้วย

 

8. วิศวกรรมสำรวจ (Survey Engineering) ศึกษาเกี่ยวกับวิธีการทำรังวัดและงานทางด้านสำรวจ สำหรับใช้ในทางด้านแผนที่ รวมถึงการศึกษาทางด้านจีพีเอส (GPS) และภูมิสารสนเทศ (Geographic Information System: GIS)

 

 

สำหรับหลักสูตร หรือรายวิชาที่ทาง สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา หรือ Civil Engineering  ต้องเรียนนั้น แต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีความแตกต่างกันไม่มากนะ ซึ่งก็จะสามารถแบ่งออกเป็นหลักๆ ดังนี้

 

1. หมวดวิชาศึกษาทั่วไป คือ วิชาทั่วๆไป ที่ต้องปรับพื้นฐานที่มาจากระดับ มัธยม นั้นเองครับ เช่น กลุ่มวิชาทางด้านภาษา กลุ่มวิชามนุษย์ศาสตร์ และสังคม กลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

 

2. หมวดวิชาเฉพาะทางวิศวกรรมศาสตร์ คือ หมวดวิชาเฉพาะที่ทาง สาขาวิศวกรรมโยธา ต้องเรียนนั้นเองครับ ซึ่งสามารถแบ่งเป็น หมวดวิชาย่อยๆ ดังนี้

 

2.1 กลุ่มวิชาพื้นฐานทางวิศวกรรมศาสตร์ คือ วิชาที่นักศึกษาที่เรียนวิศวกรรมศาสตร์ ทุกคนต้องเรียน ส่วนใหญ่ก็จะได้เรียนคล้ายๆกันในทุกๆ สาขาวิชา แต่ก็จะมีแตกต่างกันเล็กน้อยไปตาม สาขาวิชาที่เรียนนะครับ เช่น วิชาวัสดุวิศวกรรม, วิชากลศาสตร์วิศวกรรม, วิชาเขียนแบบวิศวกรรม, กลศาสตร์ของไหล หรือ การเขียนแบบคอมพิวเตอร์สำหรับวิศวกรรมโยธา เป็นต้น

 

2.2 กลุ่มวิชาบังคับทางวิศวกรรมศาสตร์ คือ วิชาที่มีเรียนเฉพาะ สาขาวิศวกรรมโยธา ซึ่งทางมหาวิทยาลัยบังคับให้เราต้องเรียน ยกตัวอย่าง เช่น วิชาการสำรวจ, วิชาการวิเคราะห์โครงสร้าง, วิชาสถิติสำหรับวิศวกรรมโยธา, วิชาปฐพีกลศาสตร์, วิชาวิศวกรรมชลศาสตร์, วิชาอุทกวิทยา, วิชาวิศวกรรมการทาง, วิชาการประเมินราคาก่อสร้าง หรือ วิชาการบริหารงานก่อสร้าง เป็นต้น วิชาบังคับทางวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็อาจจะมีความแตกต่างกันนิดหน่อยนะครับ

 

2.3 กลุ่มวิชาเลือกทางวิศวกรรมศาสตร์ คือ วิชาเลือกที่เราสามารถเลือกเรียนได้ ตามความต้องการของเรา ตามที่ทางมหาวิทยาลัยได้จัดขึ้นมา ซึ่ง ความรู้ทาง สาขาวิศวกรรมโยธา นั้น สามารถประยุกต์ใช้ได้ กับหลากหลาย สาขา ซึ่งวิชาเลือกที่เราจะเลือกเรียน ก็ต้องเลือกตามที่ตัวเรามีความสนใจ เช่น วิชาการบริหารงานวิศวกรรม, วิชาภาพถ่ายทางอากาศเชิงเลข, วิชาการสำรวจดาวเทียม, วิชาการออกแบบอาคาร, วิชาการออกแบบสะพาน, วิชาการพัฒนาทรัพยากรน้ำ หรือ วิชาวิศวกรรมแม่น้ำเบื้องต้น เป็นต้น

 

3. หมวดวิชาเลือกเสรี คือ เป็นวิชาที่เราสามารถเลือกเรียนได้ตามที่เราชอบ และที่ทางมหาวิทยาลัยทำการเปิดการเรียนการสอนได้เลยนะครับ

 

ซึ่งรายละเอีดยของหลักสูตร แต่ละมหาวิทยาลัย ก็จะมีความแตกต่างกัน ก่อนที่น้องๆ จะเลือกตัดสินใจเรียนต่อ ในแต่ละสาขา หรือแต่ละมหาวิทยาลัย นั้น ก็ควรที่จะตรวจสอบให้ละเอียด และชัดเจนนะครับ ว่ามันเหมาะสมกับตัวเราเองหรือไหม เราชอบหนือไม่ ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกนะครับผม

 

  

สำหรับ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา หรือ Civil Engineering นั้นก็มีเปิดทำการเรียนการสอนมากมาย ในหลายมหาวิทยาลัย ทั้งของภาครัฐ และเอกชน ซึ่งในยุคแรกๆ ของประเทศไทยนั้น ก็จะมีอยู่ทั้งหมด 9 มหาวิทยาลัย ที่ทำการเปิดการเรียนการสอนใน สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คือ

 

1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย                                          พ.ศ. 2472  

2. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี                   พ.ศ. 2506  

3. มหาวิทยาลัยขอนแก่น                                              พ.ศ. 2507  

4. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์                                        พ.ศ. 2510  

5. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์                                     พ.ศ. 2510  

6. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่                                             พ.ศ. 2513  

7. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ        พ.ศ. 2527  

8. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  พ.ศ. 2528  

9. มหาวิทยาลัยรามคำแหง                                          พ.ศ. 2540  

 

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลากหลายมหาวิทยาลัยที่ทำการเปิดการเรียนการสอนใน สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา หรือ Civil Engineering ทั้งรัฐบาล และเอกชน น้องๆ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตาม เว็บไซด์ ของแต่ละมหาวิทยาลัย ได้เลยนะครับผม

 

 

สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา หรือ Civil Engineering เรียนจบมาแล้ว สามารถเข้าไปทำงานได้หลากหลายองค์กร ทั้งหน่วยงานของรัฐบาล หรือ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน และสามารถประกอบอาชีพได้ในหลากหลายสายงาน เช่น วิศวกรก่อสร้าง, วิศวกรโครงการ, วิศวกรด้านผลิตภัณฑ์วัสดุ, วิศวกรสำรวจเส้นทางในการสร้างถนน หรือระบบขนส่ง, ที่ปรึกษางานก่อสร้าง, ผู้รับเหมา เป็นต้น

 

 

สำหรับเงินเดือนเริ่มต้นของ “วิศวกร” ส่วนใหญ่จะไม่แตกต่างกันมากนัก สำหรับ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา หรือ Civil Engineering ก็จะเริ่มต้นที่

 

เด็กเรียนจบใหม่ ยังไม่มีประสบการณ์นั้น เงินเดือนเริ่มต้นจะอยู่ที่ประมาณ 18,000 – 30,000 บาทต่อเดือน

 

หากมีประสบการณ์ตั้งแต่ 1 – 3 ปี จะมีเงินเดือนอยู่ที่ประมาณ 25,000 – 40,000 บาทต่อเดือน

 

และถ้ามีประสบการณ์ตั้งแต่ 3 – 5 ปี เงินเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 35,000 – 60,000 บาท

 

และหากมีประสบการณ์มากกว่า 5 ปีขึ้นไป เงินเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 50,000 – 85,000 บาทต่อเดือน

 

ทั้งนั้นทั้งนี้ เงินเดือนจะได้มากหรือน้อย ก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถ และประสบการณ์ของแต่ละคนนะครับ บางคนอาจจะได้มากกว่านี้ หรือน้อยกว่านี้ก็ได้ครับผม

 

หากเพื่อนๆ ต้องการรู้รายละเอียดข้อมูลต่างๆ หรือความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับด้านวิศวกรรมศาสตร์ หรือวงการอุตสาหกรรม หรือเคล็ดลับต่างๆ ในการหางาน ก็สามารถติดตามได้ที่ Link นี้ได้ครับผม => Engineering Knowledge Learning Center by WAND Intelligence

 

WAND Intelligence / 2021.10.20

 

YouTube:

https://www.youtube.com/watch?v=pCZNZz3ufcg

https://www.youtube.com/watch?v=sLVvFwBPXXM

ชอบบทความนี้หรือไม่? รับทราบข้อมูลโดย เข้าร่วมรับจดหมายข่าว!

ความเห็น

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนเพื่อแสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับผู้เขียน

Engineering Knowledge Learning Center [EKLC]

บทความล่าสุด
เม.ย. 28, 2023, 2:40 หลังเที่ยง Sugarmommy
เม.ย. 28, 2023, 2:37 หลังเที่ยง เบญจพิธพร
เม.ย. 27, 2023, 12:49 หลังเที่ยง ศลิล ตันวิสุทธิ์