เทคนิคการเรียนวรรณคดีไทยให้สนุกในยุคโควิด

พอได้ยินชื่อวิชาภาษาไทย หลายคนเบ้หน้าเหมือนถูกบังคับให้กินยา เพราะวรรณคดีไทยมีความไม่น่าอ่านสูงมาก มีราชาศัพท์ ศัพท์วรรณคดีที่สมัยปัจจุบันเค้าไม่พูดกันแล้ว เป็นคำที่ต้องแปลไทยเป็นไทย แถมอ่านเองยังไม่เข้าใจอีก

เรามีทริคมาแนะนำสำหรับคนที่สนใจอยากจะเรียนรู้วรรณคดีและนักเรียนชั้นประถมถึงมัธยมที่ไม่ชอบแต่ต้องเรียน หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะหลักสูตรบังคับ ไม่ถึงกับต้องเก่งหรือหลงใหลวรรณคดี แต่ให้พอเอาตัวรอดได้ในยุคที่การสอนต้องเป็นแบบออนไลน์

1. อ่านหนังสือล่วงหน้า

การมารอครูป้อนในห้องเรียนอย่างเดียวมันล้าสมัยไปแล้ว นักเรียนที่บ่นว่าเรียนออนไลน์ไม่เข้าใจ เพราะไม่อ่านหนังสือมาล่วงหน้า หนังสือเรียนก็มี ในหนึ่งคาบครูไม่สามารถเล่าทุกตัวอักษร ครูเพียงแต่จะหยิบยกประเด็นสำคัญมาพูดคุยเท่านั้น

2. เปิดพจนานุกรมหาศัพท์ที่ไม่รู้ความหมาย

แล้วนักเรียนหรือคนที่สนใจจะเตรียมตัวยังไงดีล่ะ ก่อนอื่นจะต้องเปิดพจนานุกรมหาคำที่ไม่รู้และเขียนความหมายไว้ใกล้ ๆ คำศัพท์ยากคำนั้น สมัยเราเรียนเราจะซื้อพจนานุกรมฉบับนักเรียนเพราะเล่มเล็ก สะดวก ค้นง่าย ไม่ต้องเปิดหาพจนานุกรมเล่มใหญ่ แต่เดี๋ยวนี้อาจจะไม่จำเป็นต้องซื้อแล้ว เพราะหนังสือภาษาไทยของกระทรวงศึกษาธิการปรับปรุงใหม่บรรจุศัพท์ไว้ท้ายบทเรียน สะดวกแก่การทำความเข้าใจด้วยตนเองมาก ๆ

3. จัดหมวดหมู่คำศัพท์ไว้ด้วยกัน

ศัพท์วรรณคดีจะมีคำไวพจน์หรือคำที่มีความหมายเหมือนกัน หรือในบทชมป่าก็จะมีคำศัพท์หมวดสิงสาราสัตว์ อย่างเรื่องเงาะป่า เราก็ทำคำศัพท์แยกเป็น mind -mapping แบบก้อนเมฆไว้ดังนี้

หมวดลิง เช่น วานร กรา(ภาษาก็อย) บาซิง (ค่างตัวเมีย) บาวัด (ค่างตัวใหญ่) เตาโว๊ะ (ชะนี) 

หมวดนก เช่น มุเตียว ลาเต๊าะ เองแอ๊ะ ลิงยด โกวัล (นกกระยาง) แซ็ดแซ็ด ตาเอ๊ช ยวัง

หมวดพืช  เช่น กะเจ๊ก (มะม่วงหิมพานต์) จอเฮ็ด,เซเรยา (ต้นไทร) ตากบ(หัวมัน) กาเบอะ(ผลไม้) อเวย์ (ลูกหวาย)

หมวดเครื่องแต่งกาย เช่น เลาะเตี๊ยะ(ผ้านุ่งผู้ชายชาวซาไกหรือเงาะ) ไกพ็อก (ชายผ้านุ่งห้อยข้างหน้า) กอเลาะ (ชายผ้านุ่งห้อยข้างหลัง)

หมวดอื่น ๆ เช่น ฮังวิช (อร่อย) ฮอยะ (กระท่อม บ้าน) เป่าฮุด (จุดไฟ)

4. เปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับเรียนวรรณคดีว่าไม่จำเป็นต้องอ่านรู้เรื่องทั้งหมด

วรรณคดีเป็นงานที่ข้ามกาลเวลา แต่ไม่ได้หมายความว่าเข้าใจง่าย โลกเปลี่ยน คนเปลี่ยน ค่านิยมเรื่องผัวเดียวเมียเดียวเป็นค่านิยมที่ดีในปัจจุบัน ถ้าเอาความรู้สึกในปัจจุบันไปวัด พระเอกไทยก็เป็นคนไม่ดีไปหมดเลย แต่คนเรามีขาวมีดำ วรรณคดีที่เหลือมาให้เราได้อ่านต้องมีคำสอนที่กินใจ หรือมีอะไรที่ฝังลึกในดีเอ็นเอของเราแบบไม่เปลี่ยน เช่น คนไทยเป็นคนสบาย ๆ สนุกสนาน สะท้อนผ่านการร้องรำหลังจากทำนา ประเพณีไทยต่าง ๆ ที่ต้องครื้นเครง แต่คนไทยก็มีความละเอียดลออ พิถีพิถัน เช่น การทำขนมไทยแบบต่าง ๆ ให้มีรูปทรงสวยงามน่าทาน และสูตรขนมที่ต้องอาศัยความละเอียดใจเย็น เช่น การทำขนมชั้น ต้องรอให้แป้งเย็นแล้วเททีละชั้น ด้วยความที่เนื้อแท้ของคนไทยไม่เปลี่ยน คำสอนจากคนรุ่นก่อน เช่น สอนไว้ว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด จึงเป็นบทคลาสสิกที่ครูชอบให้นักเรียนท่องจำ เพราะคนพาลก็ยังหาช่องทางหลอกคนไม่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปขนาดนั้น เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้กดเงินเอทีเอ็ม

5. วรรณคดีเป็นงานที่เน้นความรู้สึก ให้ใช้หัวใจอ่านแล้วจะเห็นทาง

วรรณคดีที่สนุกอ่านเอาเรื่องก็บันเทิง แต่อย่าลืมว่าผู้แต่งวรรณคดีส่วนใหญ่แต่งเป็นร้อยกรอง จึงมีการเล่นคำเล่นเสียงให้เกิดความไพเราะ และเขียนให้เกิดภาพในหัวคนอ่าน ทำให้คนอ่านจินตนาการเองได้ คนอ่านต้องหัดจินตนาการเหมือนเหตุการณ์มาเป็นภาพสามมิติอยู่ตรงหน้า บางบทอ่านแล้วเบื่อมาก เรื่องไม่ได้เคลื่อนไปไหนอย่างกาพย์เห่เรือ ธรรมาธรรมะสงคราม หรือเห่จับระบำ ตอนนางเมขลากับรามสูร ผู้เรียนต้องย้อนกลับไปอ่านจุดประสงค์ของคนแต่งวรรณคดีเรื่องนั้น ๆ และศึกษาประวัติย่อของวรรณคดีเรื่องนั้นไว้หน่อย จะได้ไม่คาดหวังอะไรที่ไม่ตรงกับคนแต่ง เช่น กาพย์เห่เรือ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรแต่งระหว่างเดินทางจากนางอันเป็นที่รัก (ชมวิวต่าง ๆเช่น ชมนก ชมเรือ ชมนาง) และก็มีการรำพันถึงรักที่เป็นไปไม่ได้ ก็ต้องไปหาอ่านดูว่ารักกับใคร ทำไมเป็นรักต้องห้าม ธรรมาธรรมะสงคราม บรรยายความยิ่งใหญ่ของกองทัพเทวดากับมาร พอยต์ของมันไม่ใช่เรื่องเดินเลย คือสุดท้ายมารจะมีกำลังเยอะขนาดไหน กองทัพงดงามเพียงใด ความชั่วก็ยังแพ้ความดี เห่จับระบำของนางเมขลากับรามสูร ก็คือบอกเล่าตำนานฟ้าร้องฟ้าแลบของไทย ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าเมขลาล่อแก้ว ยั่วให้รามสูรโกรธ เพราะนางมีแก้ววิเศษที่ทำให้รามสูรขว้างขวานพลาดเป้าตลอด คนแต่งคือสุนทรภู่เน้นบรรยายการเคลื่อนไหวให้เรารู้สึกถึงความงามของการใช้คำ การต่อสู้อย่างดุเดือดของเมขลากับรามสูร บทชมนางเมขลาระบำกับนางฟ้า ให้อ่านแบบสบาย ๆ ดูว่ามีคำไหนที่บ่งบอกความอลังการ ไม่ต้องไปอ่านเอาเรื่องจากงานที่ไม่มีเรื่องแบบนิยายตั้งแต่แรก ก็เหมือนการบรรยายบุษบกแก้วในรามเกียรติ์ที่เน้นความโอ่อ่าใหญ่โตของบุษบก คนเรียนต้องรู้จุดประสงค์การแต่ง ไม่ใช่บ่นว่าอ่านไม่รู้ว่าใครทำอะไรลูกเดียวเลย

ชอบบทความนี้หรือไม่? รับทราบข้อมูลโดย เข้าร่วมรับจดหมายข่าว!

ความเห็น

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนเพื่อแสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับผู้เขียน
บทความล่าสุด
เม.ย. 28, 2023, 2:40 หลังเที่ยง Sugarmommy
เม.ย. 28, 2023, 2:37 หลังเที่ยง เบญจพิธพร
เม.ย. 27, 2023, 12:49 หลังเที่ยง ศลิล ตันวิสุทธิ์