ชีวิตข้าราชการ...กับการวิ่ง 400 เมตร

บทความ ATC 6  ชีวิตข้าราชการ...กับการวิ่ง 400 เมตร

                                                                                                                  โดย  นายณัฏ ( Ninenatt )

                 คำว่า “ข้าราชการ” นั้น มีความหมายว่า บุคคลซึ่งรับการบรรจุแต่งตั้งให้รับราชการปฏิบัติหน้าที่ และรับเงินเดือนในกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ของประเทศไทย ( พจนานุกรมไทย : ราชบัณฑิตยสถาน) ข้าราชการถือว่าเป็นอาชีพหนึ่ง ที่มีหน้าที่ต้องให้การบริการและดูแลประชาชาชน เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ ที่แต่ละกระทรวง ทบวง กรม มีหน้าที่ต้องทำ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันออกไป  โดยทั่วไปบุคคลที่จะเข้ารับการบรรจุเป็นข้าราชการก็จะมีอายุเริ่มต้นประมาณ 20 ปี และทุกคนจะต้องเกษียณอายุเมื่อมีอายุ 60 ปี รวมแล้วเวลาในการรับราชการของแต่ละคน จะมีประมาณ 40 ปี  โดยแต่ละคนก็จะมีตำแหน่ง ระดับ หรือ ระดับยศ ที่สูงต่ำแตกต่างกันไป  มีผู้บริหารระดับสูงท่านหนึ่ง ท่านได้เล่าให้ฟังว่า ชีวิตข้าราชการ ก็เหมือนการวิ่ง 400 เมตรนั่นแหละ  ฟังแล้วก็ถึงบางอ้อเหมือนอย่างไร ไปดูรายละเอียดกัน

                   ท่านเล่าให้ฟังว่า ชีวิตการรับราชการนั้นถือเป็นอาชีพหนึ่งที่มีเกียรติ และมีศักดิ์ศรีมากในสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  เงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่ได้รับจากภาครัฐ แม้นจะไม่มากมายนัก แต่ก็สามารถใช้ดูแลครอบครัวได้เพียงพอ และหากใครรู้จักประหยัด รู้จักเก็บออม  ก็จะมีกินมีใช้ในยามแก่ยามชราได้เพียงพอไม่ลำบากแน่นอน  ในช่วงชีวิตรับราชการท่านเล่าว่า จากเริ่มต้นอายุประมาณ 20 ปี อยู่จนเกษียณอายุประมาณ 60 ปี รวมแล้วประมาณ 40 ปี ท่านให้แบ่งเป็น 4 ช่วง ๆ ละ 10 ปี คือ ช่วงที่ 1 อายุ 20-30 ปี ช่วงที่ 2 อายุ 30-40 ปี ช่วงที่ 3 อายุ 40-50 ปี และช่วงสุดท้าย อายุ 50-60 ปี เปรียบเสมือนกับการวิ่ง 400 เมตรแบ่งเป็นช่วง ๆ ละ 100 เมตร เช่นกัน

                 ช่วงที่หนึ่ง อายุประมาณ 20-30 ปี(อายุราชการก็ปีที่ 1-ปีที่ 10) เปรียบเสมือนกับการวิ่ง 100 เมตรแรก  เริ่มเข้ามาทำงานใหม่ ๆ ดีใจมาก ตื่นเต้นมาก ยังไม่กล้าทำอะไรมากนัก หันซ้าย หันขวา มองดูว่าพี่ ๆ ว่าเขาทำอะไรกัน ทำตามเค้าไป ยังไม่กล้าถาม กล้าพูด มักจะนิ่ง ๆ แอบศึกษาไปเรื่อย ๆ  เหมือนนักวิ่งที่ช่วงนี้เป็นหนึ่งร้อยเมตรแรก วิ่ง ๆ ชะลอบ้าง เร็วบ้าง เหลือบมองคนข้าง ๆ บ้าง ดู ๆ เค้าไป เกาะกลุ่มกันไปเรื่อย ๆ จนถึงร้อยเมตรที่สอง

                ช่วงที่สอง อายุประมาณ 30-40 ปี(อายุราชการก็ปีที่ 11-ปีที่ 20) เปรียบเสมือนกับการวิ่ง 100 เมตรที่สอง ช่วงนี้น่าสนใจมาก ประสบการณ์ 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้เริ่มมองเห็นช่องทาง และโอกาสในการเจริญก้าวหน้าในอาชีพรับราชการซึ่งจะพบว่าถ้ามีโอกาสได้เลื่อนขึ้นในตำแหน่ง ระดับ หรือยศสูง ๆ ก็จะสะดวก สบายมากขึ้น ได้เงินเดือนสูง ๆ มีลูกน้อง มีคนยอมรับ นับหน้าถือตา มากขึ้น ได้เห็นตัวอย่างจากพี่ ๆ ได้เรียนรู้งานหลาย ๆ อย่าง เริ่มมีความชำนาญ หลายคนจึงเริ่มดิ้นรนหาหนทาง บางคนตั้งใจเรียนต่อจนจบ ป.ตรี ป.โท  ป.เอก  หลายคนเริ่มทำงานชิ้นใหญ่ ๆ  เสนอแนวความคิด เสนอความคิดเห็น แสดงความสามารถ แสดงศักยภาพ ให้ผู้บังคับบัญชาได้เห็น จนเข้าตา  เริ่มหาที่พึ่ง มองหาดูว่าใครบ้างที่จะมีประโยชน์กับตนเอง เมื่อพบเมื่อเจอก็เข้าไปตีสนิท ไปรับใช้ ไปดูแล ไปทำงานใกล้ชิด หรือบางคนไปทำงานที่เอื้อผลประโยชน์ให้ จนกลายเป็นคนสนิทของผู้บังคับบัญชา หรือที่เรามักจะได้ยินคำว่า “เด็กนาย” ก็อยู่ในช่วงนี้แหละครับ เปรียบเสมือนกับนักวิ่งที่ในช่วงร้อยเมตรที่สองนี้ เริ่มที่จะวางแผนในการวิ่ง ดูข้อมูลจากนักวิ่งที่วิ่งมาด้วยกันในร้อยเมตรแรกแล้ว คิดว่าสู้ได้แน่ จึงเพิ่มสปีดให้เร็วขึ้น ให้ขยับไปอยู่ในกลุ่มหัวแถวไว้ก่อน

                    ช่วงที่สาม อายุประมาณ 40-50 ปี(อายุราชการก็เข้าปีที่ 21 -ปีที่ 30) ช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดเพราะว่า จากประสบการณ์ที่ทำงานมาประมาณ 20 ปี และหลาย ๆ คนมีวุฒิการศึกษาที่ดีจบ ป.โท  ป.เอก แล้วก็มี  และอาจจะได้รับตำแหน่งในระดับหัวหน้างานกันบ้างแล้ว ชีวิตครอบครัวก็น่าจะมีความมั่นคง มีบ้าน มีรถ ลูก ๆ ก็น่าจะเรียนในระดับอุดมศึกษากันแล้ว  หลายคนในช่วง 10 ปีนี้ น่าจะได้ตำแหน่งที่สูงขึ้น ได้ยศถาบรรดาศักดิ์ที่สูงขึ้น เติบโตเป็นผู้บริหาร หลายคนยังมีเจ้านาย หรือผู้บังคับบัญชา ช่วยหนุน ช่วยดึง พร้อมมีลูกน้องช่วยดันอีก ถ้าเทียบระดับซี ก็ต้องถึงซี 7 ซี 8 ซี 9  ถ้าแบบติดดาวก็ต้องระดับพันโท พันเอก ถึงพลตรี   ถ้าสายอำนวยการก็ต้องระดับผู้อำนวยการกอง ๆ ต่างนั่นละครับ งานนี้ต้องต่อสู้แย่งชิงกันสุดชีวิต ไม่มีคำว่าเพื่อน ว่าพี่ ว่าน้อง ไม่แคร์ใคร เพราะตำแหน่งสูงระดับนี้มีไม่มากนัก และยิ่งรู้ว่าบางยศ บางตำแหน่ง อาจต้องมีค่าใช้จ่ายด้วยละก็ ยิ่งต้องสะสมมันนี่ให้ได้มากที่สุด รวมถึงผลงานต้องเข้าตาจริง ๆ ด้วย ในทางกลับกันข้าราชการบางคน เมื่อถึงระดับนี้ เป็นตำแหน่งหัวหน้า หรือลูกน้องที่อาจไม่ใหญ่โตอะไรนัก มีคนนับหน้าถือตาก็พอควร เงินเดือน ค่าจ้าง ก็รวม ๆ แล้ว ก็น่าจะหลายหมื่นอยู่  มองอนาคตแล้วถ้าสูงขึ้น ต้องใช้ความสามารถมาก ๆ และอาจต้องมีค่าใช้จ่ายมาก ๆ อีกด้วย หลายคนถอดใจ หลายคนยึดถือความเพียงพอ ขอรักษาสภาพอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ พอแล้ว รอไปจนถึงเกษียณอายุ 60 ปีก็พอใจ มีความสุขได้  เปรียบเสมือนกับการวิ่ง 400 เมตรช่วงนี้เป็นช่วงที่ 3 หลายคนพยายามอย่างเต็มที่ไม่สนใจใคร  วิ่งลืมตาย เอาให้สุดเพื่อแซงคนอื่น ๆ ให้ได้ แต่บางคนรู้ว่าวิ่งเข้าสู่เส้นชัยเป็นที่ 1 ดูแล้วน่าจะลำบาก ท่าจะไม่ไหวแน่ ขอชะลอความเร็ว ประคองตัวเองให้อยู่ในกลุ่มส่วนใหญ่ ไม่ให้หลุดไปอยู่ท้ายแถว รอจนถึงเส้นชัย ไม่ได้ที่หนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ที่โหล่ เพียงพอแล้ว

                       ช่วงที่สี่ อายุประมาณ 50-60 ปี(อายุราชการก็เข้าปีที่ 31 -ปีที่ 40) ช่วงนี้ถ้าบอกว่าไม่สำคัญก็ไม่ได้ ถ้าบอกว่าสำคัญที่สุดก็ไม่ถูก เพราะว่าในช่วงที่สาม มีหลายคนที่ถอดใจ หรือพอเพียง หยุดเข้าแข่งขันไปแล้วจำนวนมาก ในช่วงนี้ต้องบอกว่าทุก ๆ คนที่ผ่านเข้ามามีปัจจัยภายใน เก่ง ดี มีความสามารถครบถ้วนกระบวนความแล้วทั้งนั้น เกือบทุกคนเหมาะสมและสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงสุดได้ เทียบระดับก็ซี 10 ซี 11 หรือพลโท พลเอก นั่นละครับ  ช่วงอายุ 50-55 ปี ก็น่าจะพอมองออกว่ามีใครบ้างที่จะก้าวไปสู่ตำแหน่งที่สูงสุด ที่สำคัญใครมีปัจจัยภายนอกที่ดีกว่าหรือมากกว่ากันเท่านั้น  ซึ่งปัจจัยที่พูดถึงนี้อาจตอบไม่ได้ว่ามันคืออะไรบ้าง  สถานะทางการเงินสูง สถานะทางสังคมดี  ญาติสายตรงผู้บริหารประเทศ  หรืออื่น ๆ ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น  หลายคนประสบความสำเร็จได้ดั่งใจหวัง แต่มีอีกหลายคนที่ผิดหวัง รู้ตัว รู้ชะตาชีวิตข้าราชการ  รักษาสุขภาพให้ดี ทำงานไป รอจนเกษียณอายุอย่างภาคภูมิใจ  เปรียบเสมือนกับการวิ่ง 400 เมตร ช่วงนี้เป็นช่วงสุดท้ายก่อนเข้าเส้นชัย เป็น 100 เมตรสุดท้าย หลายคนวิ่งมาถึงจุดนี้ได้ ต้องบอกว่าเก่งมาก ๆ เหลืออีกนิดเดียวก็จะถึงเส้นชัยแล้ว คนที่คิดว่าตนเองมีโอกาสเข้าเป็นที่หนึ่งก็จะวิ่งเต็มสปีด(เท่าที่ยังมีแรงวิ่ง ไม่หมดเสียก่อน) โดยไม่สนใจว่าจะมีใครมาแซง หรือมาปาดหน้าเข้าเส้นชัย และคนที่เข้าที่หนึ่งก็สำเร็จ สมหวัง มีรอยยิ้มอย่างมีความสุข  แต่มีบางคนที่รู้ว่าตนเองไม่ได้ที่หนึ่งแน่นอน ตั้งแต่ก่อนเข้าเส้นชัยแล้ว  ก็จะประคองตัววิ่งให้ถึงเส้นชัย เท่านั้นเอง

                        บทความนี้ ถึงแม้จะเป็นการเปรียบเปรย หรือเปรียบเทียบชีวิตในการรับราชการกับการวิ่ง 400 เมตรนั้นก็ตาม  ในความเป็นจริงในปัจจุบัน  เราก็อาจจะได้พบเห็นเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ได้ ทั้งหมดไม่มีผิด มีถูก ขึ้นอยู่กับว่าตัวข้าราชการเอง จะมีการวางแผนอย่างไรในชีวิตข้าราชการไทย

 

ขอขอบคุณ  ภาพจาก sombat - p

..................................................

ชอบบทความนี้หรือไม่? รับทราบข้อมูลโดย เข้าร่วมรับจดหมายข่าว!

ความเห็น

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนเพื่อแสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับผู้เขียน
บทความล่าสุด
เม.ย. 28, 2023, 2:40 หลังเที่ยง Sugarmommy
เม.ย. 28, 2023, 2:37 หลังเที่ยง เบญจพิธพร
เม.ย. 27, 2023, 12:49 หลังเที่ยง ศลิล ตันวิสุทธิ์