เป็นพนักงานสัญญาจ้าง ได้ค่าชดเชยหรือไม่?

ท่านที่เป็นพนักงานแบบสัญญาจ้างปีต่อปี อาจจะมีข้อสงสัยว่า การที่เราทำสัญญาจ้างแบบกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอนกับนายจ้าง เมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลงตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง และนายจ้างไม่ต้องการจ้างเราอีกต่อไป แล้วเราจะได้รับเงินค่าชดเชยหรือไม่?

เรื่องนี้ผู้เขียนขอออกตัวก่อนว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย จึงไม่สามารถให้คำปรึกษาทางกฎหมายได้ เพียงแชร์ประสบการณ์โดยตรงของตัวเองให้ท่านผู้อ่านได้เสพกันเท่านั้น เนื่องจากผู้เขียนมีประสบการณ์ การเป็นพนักงานสัญญาจ้างมาหลายปี คำตอบแบบสั้น ๆ ก็คือ “ได้”

 

ได้คำตอบแล้วบางท่านอาจจะงง ๆ ว่าได้ด้วยหรือ แต่ได้ก็ดีนะ บางท่านอาจจะพอใจที่ได้รับคำตอบเพียงเท่านี้ ในช่วงเวลาแบบนี้ เงินก้อนนี้จะช่วยเราได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่หากท่านผู้อ่านต้องการทราบเหตุผลว่าทำไมลูกจ้างแบบสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาแน่นอนจึงได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย ก็จะขออธิบายเหตุผลให้ทราบในย่อหน้าถัดไป

 

ผู้เขียนเองในตอนแรกคิดว่าเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามที่ระบุไว้สัญญาจ้าง ก็คงต้องหางานใหม่ทำ ไม่ได้คาดคิดว่าจะได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เพราะเมื่อลองปรึกษาทนายหลาย ๆ เพจ หรือทนายอาสาก็ได้รับคำตอบเดียวกับที่เข้าใจในตอนแรก แต่อย่าเพิ่งตำหนิท่านทนายที่ให้คำปรึกษาเหล่านั้น เพราะทนายบางท่านก็ไม่ได้ทราบข้อกฎหมายทุกข้อ ผู้เขียนก็ไม่ได้ละความพยายาม จึงหาข้อมูลจากอินเตอร์เนทเพิ่มเติม จนได้โทรศัพท์ปรึกษากับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ความว่า ถึงแม้ว่าสัญญาที่ผู้เขียนได้ทำไว้กับนายจ้างจะมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนและระบุข้อความว่า “เมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้าง ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น” แต่ผู้เขียนก็ยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 118 เพราะลักษณะการทำงานของผู้เขียนเป็นงานประจำที่ทำในออฟฟิศ ไม่ใช่การจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจของนายจ้าง ซึ่งงานนั้นต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน เช่นการรับเหมาก่อสร้าง การจ้างทำของ จ้างเขียนโปรแกรม เป็นต้น หรืองานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

 

ดังนั้นตามที่นายจ้างได้ระบุข้อความว่า “เมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้าง ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น” จึงมิชอบด้วยกฎหมาย และลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 118 เมื่อมีการจ้างลูกจ้างตั้งแต่ 120 วันขึ้นไปและลูกจ้างมิได้กระทำความผิดร้ายแรง นายจ้างจะถือเอาเหตุแห่งการสิ้นสุดของสัญญาจ้างมาอ้างไม่จ่ายค่าชดเชยมิได้

 

สำหรับท่านที่อยากทราบว่า แล้วเมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้างลงแล้ว ทำยังไงถึงจะเรียกร้องเงินชดเชยจากนายจ้างได้ล่ะ ผู้เขียนขอเล่าให้ฟังในบทความถัดไป

ชอบบทความนี้หรือไม่? รับทราบข้อมูลโดย เข้าร่วมรับจดหมายข่าว!

ความเห็น

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนเพื่อแสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับผู้เขียน
บทความล่าสุด
เม.ย. 28, 2023, 2:40 หลังเที่ยง Sugarmommy
เม.ย. 28, 2023, 2:37 หลังเที่ยง เบญจพิธพร
เม.ย. 27, 2023, 12:49 หลังเที่ยง ศลิล ตันวิสุทธิ์